ตาไวต่อแสง (ตากลัวแสง) หรือตาสู้แสงไม่ได้ คือ อาการที่สายตาทนแสงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นจากแสงอาทิตย์โดยตรง หรือจากแหล่งของแสงอื่นๆ เช่น โคมไฟ หรือไฟถนน
ในคนที่มีอาการตากลัวแสง แสงทั้งจากธรรมชาติและแสงที่มนุษย์ประดิษฐ์สามารถทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ และปวดหัว แต่อาการต่างๆ ไม่ได้จำกัดเพียงเท่านี้ ยังมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย ซึ่งประกอบด้วย:
- กล้ามเนื้อบริเวณคอเกร็งแข็ง
- มีอาการคันหรือแดงรอบดวงตา
- มีอาการชาในบางส่วนของร่างกาย
- และยังอาจรวมไปถึงมีความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการได้ยิน
คนที่มีดวงตาสีอ่อนมักจะมีอาการตากลัวแสงรุนแรงกว่าคนที่มีดวงตาสีเข้ม เนื่องจากดวงตาสีอ่อนมีเม็ดสีน้อยกว่าดวงตาสีเข้ม จึงปกป้องดวงตาจากแสงได้น้อยกว่า และจะยิ่งมีอาการรุนแรงขึ้นเมื่อต้องเจอกับแสงจ้ามากๆ เช่นในช่วงฤดูร้อนที่แสงอาทิตย์ส่องแสงเต็มที่ และไม่มีเมฆมาช่วยลดความจ้าของแสงสะท้อน
สาเหตุ ตาไวต่อแสง
1.ปัญหาจากดวงตา
เมื่อคนไข้มาพบแพทย์ด้วยอาการตาแพ้แสง คำถามแรกที่จักษุแพทย์จะถามคือ เพิ่งมีอาการอย่างเฉียบพลัน อาการรุนแรง หรือเป็นไม่มากแต่เป็นมานาน อาการแพ้แสงที่เกิดขึ้นโดยเฉียบพลันพบได้ในโรคเยื่อบุตาอักเสบจากการติดเชื้อไวรัสตาแดงหรือแบคทีเรีย การติดเชื้อที่กระจกตา ม่านตาอักเสบ กระจกตาอักเสบหลังเชื่อมเหล็กโดยไม่ใส่อุปกรณ์ป้องกันตา หรือมีเศษสิ่งแปลกปลอมติดที่ตา โรคและภาวะดังกล่าวมักมีความรุนแรงจนทำให้แสบตา ลืมตาไม่ขึ้น คนไข้จึงต้องรีบมาพบแพทย์อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ที่พบบ่อยกว่าคืออาการแพ้แสงที่เป็นมานาน รบกวนความสุขสบาย แต่ไม่ค่อยทำให้คนไข้รู้สึกว่าจะต้องรีบรักษาหรือตั้งใจจะรักษาอย่างต่อเนื่อง โรคหรือภาวะทางตาที่เป็นไปได้ในกรณีนี้ เช่น
- ตาแห้ง จนเกิดอาการเยื่อบุตาและกระจกตาอักเสบเล็กๆ น้อยๆ เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด แต่ถ้าปล่อยไว้นาน อาจจะมีอาการตามัว การมองเห็นชัดบ้างไม่ชัดบ้าง
- การใช้สายตากับการทำงานระยะใกล้เป็นเวลานานๆ เช่น การใช้มือถือ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์
- ต้อกระจก (เลนส์แก้วตาขุ่น) เกิดจากหลายสาเหตุ ที่พบบ่อยที่สุดคือ เกิดจากความเสื่อมไปตามอายุ หรือ เกิดจากอุบัติเหตุที่ตา
- ใส่คอนแทคเลนส์เป็นประจำและใส่มานาน
- ภูมิแพ้ที่เยื่อบุตา ทำให้เยื่อบุตาอักเสบ
- เยื่อบุตาอักเสบที่ไม่ร้ายแรง เช่น จากต้อลม ต้อเนื้อ
- หลังผ่าตัดตา การผ่าตัดรักษาสายตา เช่น การทำเลสิค การใส่เลนส์เสริม
- โรคเปลือกตากระตุกชนิด Benign essential blepharospasm
- เคยมีอุบัติเหตุรุนแรงทางตามาก่อน
โรคหรือความผิดปกติเหล่านี้ จะทราบด้วยการตรวจตาอย่างละเอียดโดยจักษุแพทย์เท่านั้น
2.ปัญหาที่เกี่ยวกับอาการปวดศีรษะและสมอง
2.1 กลุ่มอาการปวดศีรษะ
ประมาณ 80% ของผู้ที่มีอาการตาแพ้แสงมักจะมีอาการปวดศีรษะไมเกรนร่วมด้วย จากการศึกษาของ American Migraine Foundation รายงานว่า อาการตาแพ้แสงคืออาการหนึ่งของโรคไมเกรน แต่ผู้ที่มีอาการแพ้แสงและปวดศีรษะร่วมด้วย อาการปวดศีรษะอาจไม่ใช่จากโรคไมเกรน แต่อาจเป็นปวดศีรษะจากความเครียด (Tension headache) หรือปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ (Cluster headaches) ก็ได้
2.2 โรคทางระบบประสาทและสมอง
ได้แก่
- เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) มักเกิดแบบเฉียบพลัน แต่อาการแพ้แสงที่มีอาจจะดูเล็กน้อยลงไปเมื่ออาการที่เด่นกว่าของโรคนี้ อันได้แก่ไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง คอแข็งก้มไม่ลง
- เนื้องอกในต่อมใต้สมอง (Pituitary tumors) ก็สามารถทำให้เกิดอาการแพ้แสงปวดตาและปวดศีรษะได้ และอาการมักจะค่อยๆ แสดงออกมากขึ้น เพราะเมื่อเนื้องอกมีขนาดโตขึ้นๆ เบียดเส้นประสาทและอวัยวะรอบๆ พร้อมกับสร้างฮอร์โมน จึงเกิดมีอาการได้หลากหลาย ปวดศีรษะมากขึ้นจนถึงมีอาการตามัว
อาการ ตาไวต่อแสง
ตาแพ้แสงสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย และอาจเกิดขึ้นอย่างกะทันหันโดยไม่มีสัญญาณเตือนใด ๆ มาก่อน ซึ่งผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีอาการแตกต่างกันไป และบางรายอาจมีอาการตาแพ้แสงร่วมกับอาการอื่น ๆ ด้วย
โดยอาการที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่มีตาแพ้แสง ได้แก่
- รู้สึกไม่สบายตา ระคายเคืองดวงตา
- ต้องหรี่ตาหรือหลับตาเมื่อสัมผัสแสง
- แสบตา
- ตาแดง
- มีน้ำตาไหลออกมามาก
- มีสารคัดหลั่งสีเขียวหรือสีเหลืองไหลออกจากดวงตา
ทั้งนี้ ระดับความรุนแรงของตาแพ้แสง และอาการที่ปรากฏร่วมกับตาแพ้แสงนั้นไม่มีลักษณะเฉพาะเจาะจง โดยอาจแตกต่างกันไปตามโรค ภาวะ หรืออาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ที่เป็นสาเหตุของตาแพ้แสง
การรักษา ตาไวต่อแสง
หากรู้สึกว่าตัวเองประสบปัญหาตาไม่สู้แสงอยู่เป็นประจำ มีวิธีการต่างๆ ที่คุณสามารถทำได้เพื่อบรรเทาอาการตากลัวแสง ยกตัวอย่างเช่น หลีกเลี่ยงการเจอแสงจ้าให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ หรือเมื่อจำเป็นต้องอยู่กลางแสงแดดจ้า ควรปกป้องถนอมดวงตาด้วยเลนส์ที่เหมาะสม ที่มีสารเคลือบป้องกันแสงยูวี เลนส์ป้องกันแสงสะท้อน อย่างเช่น Crizal และ เลนส์ปรับแสง อย่างเช่น Transitions สามารถช่วยถนอมดวงตาจากแสงจ้า ทั้งในอาคารและกลางแจ้ง
นอกจากการสวมแว่นตาเพื่อปกป้องดวงตา และหลีกเลี่ยงการออกไปเจอแสงจ้าแล้ว ยังมีวิธีการบรรเทาอาการตากลัวแสงอย่างง่ายๆ ได้ผลทันที อย่างเช่น หลับตาสักครู่ หรือปรับแสงไฟในห้องให้มืดลงนิดหนึ่ง โดยการใช้สวิตช์ไฟหรี่
วิธีที่ดีที่สุดในการรักษาอาการตากลัวแสง คือการหาสาเหตุที่แท้จริงให้พบ โดยปกติแล้ว อาหารตาไวต่อแสงนี้จะรักษาให้หายขาดได้หากแก้ปัญหาได้อย่างถูกจุด