เบาหวานขึ้นตา (Diabetic Retinopathy) เป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน ทำให้เส้นเลือดที่เรตินาหรือจอตาได้รับความเสียหายจากน้ำตาลอุดตันและเลือดไม่สามารถไหลเวียนได้ตามปกติ ในช่วงแรกอาจไม่พบอาการหรืออาจมองเห็นผิดปกติเพียงเล็กน้อย แต่หากมีอาการรุนแรง แล้วปล่อยไว้ไม่เข้ารับการรักษาอาจทำให้สูญเสียการมองเห็นได้ในที่สุด
ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานจะมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ ส่งผลให้ผนังหลอดเลือดฝอยเสื่อมทั่วร่างกาย รวมทั้งหลอดเลือดที่จอตาด้วย เลือดและสารต่างๆจะรั่วซึมออกจากหลอดเลือดที่ผิดปกติเหล่านี้และทำให้เกิด ภาวะเบาหวานขึ้นจอตา ( diabetic retinopathy , DR ) ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 ระยะตามความรุนแรงของโรคคือ ระยะที่ยังไม่มีการสร้างหลอดเลือดใหม่ และระยะที่มีการสร้างหลอดเลือดใหม่ ผู้ป่วยที่มีเบาหวานขึ้นจอตาในระยะแรกมักไม่รู้สึกผิดปกติใดๆ เมื่อตรวจตาอาจพบจุดเลือดออกที่จอตา หากมีการรั่วซึมของหลอดเลือดจะพบจอตาบวมและเริ่มมีอาการตามัว หากโรคลุกลามมากขึ้นจนเกิดการอุดตันของหลอดเลือดจะทำให้เกิดภาวะจอตาขาดเลือด ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการสร้างหลอดเลือดใหม่ ( neovascularization ) หลอดเลือดเหล่านี้มีลักษณะเปราะและแตกง่าย ทำให้เลือดออกในตาและเกิดพังผืดดึงรั้งจอตา ผู้ป่วยมักมีสายตาแย่ลงอย่างมากทั้งจากเลือดออกและจอตาลอก
อาการตามัวอาจเกิดจากการบวมบริเวณจุดภาพชัด (macular edema) ซึ่งเกิดจากน้ำและไขมันรั่วออกจากหลอดเลือด จุดภาพชัดเป็นบริเวณสำคัญที่ใช้ในการมองภาพ ดังนั้นเมื่อเกิดความผิดปกติบริเวณนี้จึงส่งผลต่อการมองเห็นอย่างมาก ในรายที่เป็นรุนแรงหลอดเลือดบริเวณจุดภาพชัดอาจเกิดการอุดตัน ทำให้เกิดภาวะจุดภาพชัดขาดเลือด ( macular ischemia ) ส่งผลให้ผู้ป่วยสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร
เบาหวานขึ้นตา แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ
- เบาหวานขึ้นจอตาระยะต้น หรือระยะที่ยังไม่มีหลอดเลือยฝอยงอกใหม่ (non-proliferative diabetic retinopathy หรือ NPDR)
- เบาหวานขึ้นจอตาระยะรุนแรง หรือระยะที่มีหลอดเลือยฝอยงอกใหม่ (proliferative diabetic retinopathy หรือ PDR)
การมีจอตาบวมน้ำบริเวณจุดภาพชัด (macular edema) เป็นสาเหตุของตามัวที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่มีเบาหวานขึ้นจอตา สามารถพบได้ทั้งเบาหวานขึ้นจอตาในระยะต้นและระยะรุนแรง ดังนั้นแม้ว่าเบาหวานขึ้นจอตาโดยรวมจะยังไม่รุนแรง แต่ถ้าถ้ามีจอตาบวมน้ำบริเวณจุดภาพชัด ก็อาจทำให้ตามัวมากได้ ซึ่งต้องการการรักษา
สาเหตุ เบาหวานขึ้นตา
เบาหวานขึ้นตามีสาเหตุมาจากระดับน้ำตาลในเลือดที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นเวลานาน ส่งผลให้เส้นเลือดฝอยที่ไปหล่อเลี้ยงจอตาอุดตัน และทำให้เกิดการสร้างเส้นเลือดใหม่ขึ้นเพื่อทดแทนเส้นเลือดเก่าที่ได้รับความเสียหาย แต่เส้นเลือดใหม่เหล่านี้ไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสม ทำให้เลือดหรือสารน้ำอื่น ๆ รั่วไหลเข้าเรตินาได้
ทั้งนี้ผู้ป่วยเบาหวานสามารถเกิดภาวะเบาหวานขึ้นตาได้ อีกทั้งยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะเบาหวานขึ้นตา เช่น ระยะเวลาของการเป็นโรคเบาหวาน ยิ่งเป็นนานก็ยิ่งมีความเสี่ยงสูง การไม่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง อยู่ในช่วงตั้งครรภ์ หรือมีพฤติกรรมการสูบบุหรี่ เป็นต้น
อาการ เบาหวานขึ้นตา
ในระยะแรกของโรคเบาหวานขึ้นตา อาจจะยังไม่พบอาการ หรือความผิดปกติในการมองเห็น แต่เมื่อมีความรุนแรงมากขึ้น จะพบอาการต่างๆ เช่น
- มองเห็นจุดหรือเส้นสีดำคล้ายหยากไย่ลอยไปมา
- มองเห็นภาพบิดเบี้ยว
- ตามัว การมองเห็นแย่ลง สายตาไม่คงที่
- แยกแยะสีได้ยากขึ้น
- ภาพที่มองเห็นมืดเป็นแถบๆ
- ตาบอด หรือสูญเสียการมองเห็น
การรักษา เบาหวานขึ้นตา
ความผิดปกติที่เกิดจากเบาหวานขึ้นจอตานั้นไม่สามารถแก้ไขให้กลับมาเป็นสภาพปกติได้ การรักษาที่มีอยู่ในปัจจุบันมุ่งหวังให้โรคไม่ลุกลามไปจากระยะที่เป็นอยู่ การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและน้ำตาลสะสมให้อยู่ในเกณฑ์ปกติรวมทั้งการดูแลโรคประจำตัวอื่นๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูงและโรคไตอย่างเหมาะสม สามารถชลอความรุนแรงของโรคได้ การรักษาภาวะเบาหวานขึ้นจอตาในปัจจุบันมี 3 วิธีคือ
การรักษาด้วยเลเซอร์
เป็นวิธีมาตรฐานในการรักษาโดยมีข้อบ่งชี้คือ ผู้ป่วยที่มีเบาหวานขึ้นจอตาในระยะที่มีการสร้างหลอดเลือดใหม่และผู้ป่วยที่มีจุดภาพชัดบวม เลเซอร์จะทำให้หลอดเลือดใหม่ที่ผิดปกติฝ่อลง ส่งผลให้จอตายุบบวมและป้องกันการเกิดเลือดออกในตา การรักษาด้วยเลเซอร์นั้นอาจต้องแบ่งยิงหลายครั้ง เพื่อป้องกันภาวะจอตาบวมจากเลเซอร์ ภาวะแทรกซ้อนจากการักษา โดยเลเซอร์พบได้น้อยมาก หากผู้ป่วยร่วมมือและได้รับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
การรักษาด้วยยา
เป็นการรักษาวิธีใหม่โดยการฉีดยาเข้าวุ้นตาโดยยาจะมีคุณสมบัติลดการรั่วของหลอดเลือด และทำให้หลอดเลือดที่เกิดใหม่ฝ่อลง การรักษาโดยวิธีนี้ได้ผลค่อนข้างดีแต่ฤทธิ์ของยาอยู่ได้ไม่นานและมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการฉีดยาเข้าวุ้นตาได้แก่ การตาอักเสบติดเชื้อ เลือดออกในวุ้นตาและการเกิดจอตาลอก ซึ่งมีโอกาสเกิดน้อยมาก
การรักษาด้วยการผ่าตัด
ผู้ป่วยที่มีเลือดออกในวุ้นตาส่วนใหญ่เลือดจะถูกดูดซึมหมดไปเองในระยะเวลา 2-3 เดือน ในรายที่เลือดไม่ถูกดูดซึมหมดไปหรือมีจอตาลอกจากพังผืดดึงรั้ง การผ่าตัดวุ้นตา อาจช่วยป้องกันไม่ให้โรคลุกลามและสามารถซ่อมแซมจอตาที่ลอกให้กลับเข้าที่เดิม แต่การมองเห็นอาจไม่กลับมาเป็นปกติ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคในผู้ป่วยแต่ละราย
ผลการรักษา เบาหวานขึ้นตา
จอตาเป็นอวัยวะที่บอบบางและละเอียดอ่อนมาก จอตาที่บวมหรือขาดเลือดไปเลี้ยงมักเสื่อมไปบางส่วนตามความรุนแรงของโรค แม้ได้รับการรักษาอย่างเต็มที่แล้วก็ตาม การมองเห็นอาจไม่กลับคืนเป็นปกติดังเดิม โดยทั่วไปหลังการรักษาด้วยเลเซอร์ การมองเห็นมักพอๆ เดิม เมื่อเทียบกับก่อนเลเซอร์
การผ่าตัดน้ำวุ้นตา ในรายที่มีเพียงเลือดออกในน้ำวุ้นตา แต่จอตายังเสื่อมไม่มาก การมองเห็นอาจดีขึ้นได้มาก แต่รายที่จอตาหลุดลอกจากพังผืดดึงรั้ง มักมีการพยากรณ์โรคไม่ดี (บางรายอาจดีขึ้น แต่หลายรายก็ไม่ดีขึ้น หรือส่วนน้อยอาจบอดสนิทได้)
ปัจจุบัน มีการนำยาฉีดที่ยั้งยั้งการรั่วของหลอดเลือดฝอย (anti-vascular endothelial growth factor) มาใช้ในการรักษาโดยการฉีดเข้าไปในน้ำวุ้นตา แต่ยังมีการใช้ในวงจำกัด และเป็นเพียงทางเลือกทางหนึ่งเท่านั้น