บิดอะมีบา

บิดอะมีบา (บิดมีตัว) พบได้ในคนทุกวัย แต่พบมากในคนอายุมากกว่า 20 ปีขึ้นไป

บิดชนิดนี้พบได้น้อยกว่าบิดชิเกลลา มักพบในท้องถิ่นที่การสุขาภิบาลยังไม่ดี หรือในกลุ่มคนที่ยังขาดสุขนิสัยที่ดี การติดเชื้อมักเกิดได้บ่อยในสถานพักฟื้นของผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยทางจิตเวช  และในกลุ่มชายรักร่วมเพศ

ผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่มักไม่มีอาการแสดง แต่เป็นพาหะแพร่เชื้อให้ผู้อื่น ส่วนน้อยจะกลายเป็นโรคบิด อะมีบา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์จัด ขาดอาหาร ป่วยเป็นมะเร็ง ใช้ยาสตีรอยด์หรือยากดภูมิคุ้มกัน ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์หรือหลังคลอดอาจเกิดอาการรุนแรง และมีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงได้

อะมีบา เป็นโปรโตชัว (สัตว์เซลล์เดียว) ชนิดหนึ่ง สามารถเข้าไปทำให้เกิดการติดเชื้อในลำไส้ กลายเป็นลำไส้ใหญ่อักเสบ (colitis)  เรียกว่า บิดอะบีบา หรือเข้าไปในตับทำให้เกิดฝีในตับ เรียกว่า ฝีตับอะมีบา

สาเหตุ บิดอะมีบา

เกิดจากการติดเชื้ออะมีบา (ameba) ที่มีชื่อว่า เอนตามีบาฮิสโตไลติคา (Entamoeba hisolytica) ซึ่งอยู่ตามดินและแหล่งน้ำธรรมชาติ รวมทั้งอาจปนเปื้อนอยู่ในสระว่ายน้ำและน้ำประปา ส่วนใหญ่ติดต่อโดยการกินอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อจากผู้ที่เป็นพาหะ (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่จัดเตรียมหรือทำอาหารให้ผู้อื่น) หรือปนเปื้อนดินหรือน้ำที่มีเชื้อ นอกจากนี้ยังติดต่อโดยการดื่มน้ำแบบดิบๆ และการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่ติดเชื้อ หรือการมีเพศสัมพันธ์ที่มีโอกาสติดเชื้อจากบริเวณทวารหนัก (ซึ่งพบในกลุ่มชายร่วมเพศ)

ระยะฟักตัว 1 สัปดาห์ถึง 3 เดือน (ส่วนใหญ่ 8-10 วัน)

อาการ บิดอะมีบา

ในรายที่เป็นเฉียบพลัน อาจแสดงอาการได้ 3 ลักษณะตามความรุนแรงของโรคดังนี้

ในรายที่มีการติดเชื้อเล็กน้อยถึงปานกลาง จะมีอาการปวดบิดในท้อง มีลมในท้องมาก ท้องอืด ถ่ายอุจจาระเหลววันละ 3-5 ครั้ง อาจมีมูกปนเล็กน้อย (โดยไม่มีเลือดปน) หรือไม่ก็ได้ ส่วนใหญ่มักมีไข้ หรือมีไข้ต่ำ

ในรายที่มีการติดเชื้อมาก จะมีอาการลำไส้ใหญ่อักเสบหรือโรคบิดชัดเจน คือปวดท้อง ปวดเบ่งที่ก้นคล้ายถ่ายไม่สุด และถ่ายเป็นมูกเลือดที่ละน้อย ซึ่งมีเนื้ออุจจาระปนน้อยมาก มักมีกลิ่นเหม็นเหมือนหัวกุ้งเน่า ผู้ป่วยจะถ่ายกะปริดกะปรอยวันละ 10-20 ครั้ง หรือมากกว่า ระยะนี้ผู้ป่วยเดินเหินไปไหนมาไหนและทำงานได้

อาการถ่ายเหลวหรือถ่ายเป็นมูกเลือดดังกล่าว มักจะเป็นอยู่นานหลายวันถึงหลายสัปดาห์ แล้วอาจทุเลาไปได้เองสักระยะหนึ่ง หากไม่ได้รับการรักษาก็จะมีอาการกำเริบซ้ำได้บ่อย ๆ

ในรายที่ติดเชื้อรุนแรง ซึ่งมักพบในเด็กเล็ก จะมีอาการคล้ายบิดชิเกลลา คือ มีไข้สูง ปวดท้องมาก คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลียมาก ถ่ายเป็นน้ำปริมาณมากวันละ 10 -20 ครั้ง มักมีเลือดปน และมักมีภาวะขาดน้ำซึ่งอาจรุนแรงถึงซ็อกได้

ในรายที่เป็นเรื้อรัง  จะมีอาการปวดท้อง ท้องอืด อ่อนเพลีย ถ่ายอุจจาระเหลว (อาจมีมูกปน) วันละ 3-5 ครั้ง หรือถ่ายเป็นมูกเลือดกะปริดกะปรอย เป็นๆ หายๆ เรื้อรังนานเป็นแรมเดือนแรมปี ผู้ป่วยมักมีอาการน้ำหนักลดร่วมด้วย และช่วงที่ไม่มีอาการท้องเดินอาจมีอาการท้องผูกสลับด้วย อาการแสดงบางครั้งอาจแยกไม่ออกจากมะเร็งลำไส้ใหญ่

การป้องกัน บิดอะมีบา 

  1. หลังการให้ยารักษา  ถึงแม้ว่าอาการจะทุเลาเป็นปกติแล้ว แต่ถ้าเป็นไปได้ควรทำการตรวจดูเชื้อในอุจจาระในเดือนที่ 1‚ 3 และ 6 หลังการรักษา  ทั้งนี้เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีเชื้อหลงเหลือซึ่งอาจทำให้โรคกำเริบใหม่ได้
  2. ผู้ที่ติดเชื้ออะมีบาอาจมีอาการท้องเดิน (ถ่ายเหลว หรือถ่ายเป็นมูกไม่มีเลือดปน) เป็นๆ หายๆ เรื้อรังได้ หากสงสัยควรส่งตรวจดูเชื้ออะมีบาในอุจจาระ
  3. ในผู้ที่ติดเชื้ออะมีบาบางรายอาจไม่มีอาการแสดงแต่อย่างใด แต่สามารถแพร่เชื้อออกทางอุจจาระ ไปให้ผู้อื่น เรียกว่า พาหะ (carrier) ของโรคบิดอะมีบา หากร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น กินยาสตีรอยด์ก็อาจกลายเป็นโรคตามมาได้

หากสงสัย (เช่น ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย) ควรตรวจอุจจาระ ถ้าพบเชื้ออะมีบาก็ให้การรักษาด้วยยาไอโอโดวินนอล(iodoquinol) ครั้งละ 650 มก.วันละ 3ครั้ง (เด็กให้ขนาดวันละ 30 – 40 มก./กก.แบ่งให้วันละ 3 ครั้ง) นาน 21 วัน ถ้าไม่มียานี้ก็ควรติดตามอาการและตรวจอุจจาระซ้ำเป็นระยะ  ส่วนใหญ่เชื้อจะถูกขับออกทางอุจจาระจนหมดภายใน 1 ปี

ปฏิบัติเช่นเดียวกับการป้องกันบิดชิเกลลา และท้องเดินจากเชื้อไกอาร์เดีย

การรักษา บิดอะมีบา

  1. หากสงสัยควรส่งชันสูตรเพิ่มเติม โดยการนำอุจจาระไปส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์หาตัวเชื้ออะมีบา (เพื่อความแน่ใจควรตรวจซ้ำหลายๆ ครั้ง) ถ้าพบว่าเป็นโรคนี้ นอกจากให้การรักษาตามอาการ (เช่น ยาลดไข้ ให้อาหารบำรุงร่างกาย) แล้วควรให้ยาปฏิชีวนะดังนี้
    • ผู้ใหญ่ ให้เมโทรไนดาโซล ครั้งละ 750 มก.วันละ 3 ครั้ง นาน 10 วันเด็ก ให้เมโทรไนดาโซล วันละ  35-50 มก./กก.แบ่งให้วันละ 3 ครั้ง นาน 10 วัน
  2. ถ้าไม่ดีขึ้น เป็นเรื้อรัง คลำได้ก้อนในท้อง หรือมีอาการน้ำหนักลดฮวบ ควรส่งโรงพยาบาล ในรายที่ยังวินิจฉัยไม่ได้ชัดเจนอาจต้องทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น การใช้กล้องส่องตรวจลำไส้ใหญ่ (sigmoidocopy‚colonoscopy) การตรวจหาเชื้อในอุจจาระด้วยวิธี (PCR การทดสอบทางน้ำเหลืองด้วยวิธี ELISA เป็นต้น ถ้าพบว่าเป็นบิดอะมีบาก็ให้การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ได้แก่ เมโทรไนดาโซลตามขนาดดังกล่าว หรือทินิดาโซล (tinidazole) 2 กรัม วันละ 1 ครั้ง นาน 3-5 วัน (ยากลุ่มนี้ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ระยะไตรมาสแรก)
  3. ถ้ามีอาการปวดท้องรุนแรง หน้าท้องกดเจ็บมากหรือเกร็งแข็ง ตับโตและกดเจ็บมาก ถ่ายเป็นเลือดรุนแรง ปอดศีรษะรุนแรง หายใจหอบหรือซัก ควรส่งโรงพยาบาลด่วน เพื่อตรวจหาสาเหตุหรือภาวะแทรกซ้อนและให้การแก้ไขอย่างเร่งด่วน
[Total: 0 Average: 0]