ริดสีดวงตา คือ โรคตาอักเสบเรื้อรังที่พบได้บ่อยในพื้นที่ที่แห้งแล้ง กันดาร มีฝุ่นมาก และมีแมลงหวี่ แมลงวันซุกชุม พบได้ในคนทุกวัย แต่จะพบมากในเด็กก่อนวัย เรียนที่พ่อแม่ปล่อยให้เล่นสกปรกทั้งวัน
การอักเสบจะเป็นเรื้อรังเป็นแรมเดือนแรมปี และอาจติดเชื้ออักเสบซ้ำ ๆ หลายครั้ง เนื่องจากภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้มักมีอยู่พียงชั่วคราว โรคนี้ในบ้านเราถือเป็นสาเหตุสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้ตาบอด
สาเหตุ ริดสีดวงตา
เกิดจากการติดเชื้อริดสีดวงตาซึ่งเป็นแบคทีเรียที่ มีชื่อว่า คลามีเดียทราโคมาติส(Chlamydia rtachomatis) ติดต่อโดยการสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง ทำให้เชื้อจากคน ที่เป็นโรคแพร่ไปเข้าตาของอีกคนหนึ่ง บางครั้งอาจติดต่อผ่านทางผ้าเช็ดตัว เครื่องใช้ต่าง ๆ ที่ใช้รวมกัน หรือ ผ่านทางแมลงหวี่ แมลงวันที่มาตอมตา นำเชื้อจากคนหนึ่งไปให้อีกคนหนึ่งการติดต่อมักจะต้องอยู่ใกล้ชิดกัน นาน ๆ จึงมักพบเป็นพร้อมกันหลายคนในครอบครัวเดียวกัน เชื้อนี้จะเข้าไปทำให้เกิดการอักเสบที่เยื่อบุตาขาว และกระจกตา (ตาดำ)
ระยะฟักตัว ริดสีดวงตา
5-12 วัน
อาการ ริดสีดวงตา
แบ่งออกเป็น 4 ระยะได้แก่
1. ระยะแรกเริ่ม
มีอาการเคืองตา คันตา น้ำตาไหล ตาแดงเล็กน้อย และอาจมีขี้ตา ซึ่งมักจะเป็นที่ตา ทั้ง 2 ข้าง อาการคล้ายกับเยื่อตาขาวอักเสบจากเชื้ออื่น ๆจนบางครั้งแยกกันไม่ออก แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าพบว่ามี อาการเรื้อรังนาน 1-2 เดือน และอยู่ในท้องถิ่นที่มีโรคนี้ชุกชุมหรือมีคนในบ้านเป็นโรคนี้อยู่ก่อนก็อาจให้การรักษาแบบโรคริดสีดวงตาไปเลย ถึงแม้ไม่ได้รักษาในระยะนี้บางรายอาจหายได้เอง แต่บางรายอาจเข้าสู่ระยะที่ 2
2.ระยะที่เป็นริดสีดวงแน่นอนแล้ว
การอักเสบจะลดน้อยลงผู้ป่วยจะมีอาการต่างๆ ลดลงกว่าระยะ ที่ 1 แต่ถ้าพลิกเปลือกตาดู จะพบเยื่อบุตาหนาขึ้น และเห็นเป็นตุ่มเล็กๆ ที่เยื่อบุตาบน(ด้านในของผนังตาบน) นอกจากนี้จะพบว่ามีแผ่นเยื่อบางๆ ออกสีเทา ๆ ที่ส่วน บนสุดของตาดำ (กระจกตา) ซึ่งจะมีหลอดเลือดฝอยวิ่งเข้าไปในตาดำ แผ่นเยื่อสีเทาซึ่งมีหลอดเลือดฝอยอยู่ด้วย นี้เรียกว่า แพนนัส (pennus) ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของ (เยื่อตาขาวอักเสบจากการแพ้ อาจมีตุ่มเล็กๆ ที่เยื่อบุเปลือกตา แต่จะไม่มีแพนนัสที่ตาดำ)
ระยะนี้อาจเป็นอยู่นานเป็นแรมเดือน หรือแรมปี หากไม่ได้รับการรักษาก็จะเข้าสู่ระยะที่ 3
3.ระยะเริ่มเป็นแผลเป็น
ระยะนี้อาการเคืองตาลดน้อยลง จนแทบไม่มีอาการอะไรเลยตุ่มเล็กๆ ที่เยื่อบุเปลือกตาบนเริ่มค่อย ๆ ยุบหายไปแต่จะมีพังผืดแทนที่กลายเป็นแผลเป็นส่วนแพนนัสที่ตาดำยังคงปรากฏให้เห็นระยะนี้อาจกินเวลาเป็นแรมปี เช่นเดียวกับระยะ ที่ 2 การใช้ยารักษาในระยะนี้ไม่ค่อยได้ผล และจะเข้าสู่ ระยะที่ 4
4. ระยะของการหายและเป็นแผลเป็น
ระยะนี้ เชื้อจะหมดไปเอง แม้จะไม่ได้รับการรักษา แพนนัสจะค่อยๆหายไป แต่จะมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ตามโรคนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นรุนแรงทุกราย บางรายเป็นแล้วอาจหายได้เองในระยะแรก ๆ ส่วนในรายที่มีภาวะแทรกซ้อน มักจะมีการติด เชื้ออักเสบบ่อยๆ ประกอบกับมีปัจจัยเสริมอื่นๆ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติม ขาดอาหาร ขาดวิตามิน เป็นต้น
การป้องกัน ริดสีดวงตา
- โรคนี้ควรแยกออกจากเยื่อตาขาวอักเสบชนิดอื่น ควรสงสัยเป็นริดสีดวงตา เมื่อมีการอักเสบเรื้อรังเป็นเดือนๆ และอยู่ในท้องถิ่นที่มีโรคนี้ซุกชุม
- คำว่าริดสีดวงตา ชาวบ้านหมายถึงอาการเคืองตา คันตาเรื้อรัง ซึ่งอาจมีสาเหตุจากการแพ้หรือจากการติดเชื้อริดสีดวงตา (trachoma) ก็ได้ ทั้ง 2 โรคนี้มี สาเหตุ อาการภาวะแทรกซ้อน และการรักษาต่างกัน
- การรักษาริดสีดวงตา ต้องลงมือรักษาตั้งแต่ในระยะที่1 และ2 ซึ่งเป็นระยะที่มีการติดเชื้อรุนแรงการใช้ยาปฏิชีวนะจะสามารถทำลายเชื้อ และป้องกันมิให้เกิดภาวะแทรกซ้อน (แต่ในระยะที่ 3 และ 4 เป็นระยะที่การติดเชื้อเบาบางลงแล้ว และเปลือกตาเริ่มเป็นแผลเป็น การใช้ยาปฏิชีวนะในระยะนี้ จึงไม่ค่อยได้ประโยชน์ คือไม่สามารถลดหรือป้องกันภาวะแทรกซ้อนได้) และควรรักษาผู้ป่วยที่มีอยู่ในบ้านพร้อมกันทุกคน
การรักษา ริดสีดวงตา
- หากตรวจพบว่าเป็นริดสีดวงตา ให้กินดอกซีไซคลีน 100 มก.วันละ 2 ครั้ง นาน 4 สัปดาห์ สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 8 ปี หญิงตั้งครรภ์ และหญิงที่ให้นมบุตรให้อีริโทรไมซินแทน ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคนี้ ควรให้ยาป้าย ตาเตตราไซคลีน หรือยาป้ายตาอีริโทรไมซิน ร่วมด้วยโดยป้ายตาทุกๆ เดือน เดือนละ 5วันติดต่อกันวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น
- ถ้าให้ยา 2 สัปดาห์แล้วไม่ดีขึ้น หรือไม่แน่ใจในการวินิจฉัย ควรส่งโรงพยาบาลหรือปรึกษาแพทย์ผู้ เชี่ยวชาญอาจต้องทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น การขูดเยื่อบุตาย้อมสีด้วย Geimsa stain หรือ immunofluorescein การเพาะเชื้อเป็นต้น และให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป
- ถ้ามีภาวะแทรกซ้อน ควรส่งโรงพยาบาลอาจต้องผ่าตัดแก้ไขเปลือกตาที่เป็นแผลเป็นอันเป็นต้นเหตุของภาวะแทรกซ้อน ในรายที่เป็นแผลเป็นที่กระจกตาอาจต้องผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา