เป็นลม (Faint) คือ อาการที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกขณะและเกิดขึ้นกะทันหัน ทำให้หมดสติไปในระยะเวลาสั้น ๆ สาเหตุที่พบได้บ่อยเนื่องจากระดับความดันในเลือดต่ำ หรือเป็นผลมาจากปัญหาสุขภาพในส่วนอื่น ๆ เช่น ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ โรคโลหิตจาง โรคเบาหวาน ความเครียด ความกลัว ความวิตกกังวลสูง การขาดออกซิเจน การเปลี่ยนอิริยาบถจากนอนเป็นนั่ง จากนั่งเป็นยืนเร็วเกินไป ผู้ที่เป็นลมส่วนใหญ่จะฟื้นคืนสู่สภาพปกติได้ในเวลาไม่นานหลังจากได้นอนราบลงไป เป็นลมเป็นอาการที่ไม่รุนแรง แต่ควรไปพบแพทย์หากสงสัยว่าการเป็นลมอาจเป็นอาการเตือนของโรคอื่น ๆ
สาเหตุ เป็นลม
- เป็นลมธรรมดา เป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด โดยส่วนใหญ่แล้วคนที่เป็นลมแบบนี้มักอยู่ในที่แออัด หรืออากาศร้อนอบอ้าว อดนอน หิวข้าว ร่างกายเหนื่อยล้า หรือยืนนานๆ บางคนอาจมีอารมณ์เครียด กลัว ตกใจ หรือกลัวเจ็บ
- เป็นลมเนื่องจากกิริยาบางอย่าง เช่น ขณะกลืนอาหาร ไอรุนแรง เบ่งถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระ หลังกินอาหาร หันคอ โกนหนวด (ด้วยเครื่องโกนหนวดไฟฟ้า) ใส่เสื้อคอคับ เป็นต้น
- เป็นลมเนื่องจากความดันเลือดต่ำ เมื่อผู้ป่วยลุกขึ้นยืนจะมีอาการหน้ามืดเป็นลมทันที มักพบในคนสูงอายุ ผู้ที่เป็นเบาหวานหรือโรคพิษสุราเรื้อรัง ผู้ที่กินยารักษาโรคความดันเลือดสูงหรือโรคหัวใจ ผู้ที่มีภาวะตกเลือด (มีเลือดออก ถ่ายอุจจาระดำ ประจำเดือนออกมาก) หรือมีภาวะขาดน้ำ เช่น ท้องเสีย มีไข้
- เป็นลมเนื่องจากโรคหัวใจ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน โรคหัวใจล้มเหลว โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น ซึ่งจัดว่าเป็นภาวะที่ร้ายแรง และมักพบในผู้สูงอายุ
- เป็นลมเนื่องจากโรคหลอดเลือดสมอง เช่น หลอดเลือดสมองตีบ เลือดออกในสมอง
อาการ เป็นลม
- เป็นลมธรรมดา มักมีอาการเป็นลมขณะอยู่ในท่ายืน คือ อยู่ดีๆ รู้สึกใจหวิว แขนขาอ่อนแรง ทรงตัวไม่ไหว ทรุดลงนอนกับพื้น แล้วหมดสติอยู่ชั่วประเดี่ยวเดียว อาจนานเพียงไม่กี่วินาทีถึง 1-2 นาที แล้วก็ฟื้นคืนสติได้เอง บางคนก่อนเป็นลมอาจมีอาการเตือนล่วงหน้า (เช่น ศีรษะเบาหวิว ตัวโคลงเคลง มองเห็นภาพเป็นจุดดำหรือตามัวลง มีเสียงดังในหู คลื่นไส้) อยู่นาน 2-3 นาที แล้วก็เป็นลมฟุบ
- เป็นลมจากอากัปกิริยาบางอย่าง มีอาการคล้ายกับอาการเป็นลมธรรมดา แต่จะมีสาเหตุกระตุ้นชัดเจน เช่น ไอ ขณะกลืนอาหาร เบ่งถ่าย หันคอ เป็นต้น
- เป็นล้มจากความดันตกในท่ายืน มีอาการหน้ามืด เป็นลมทันทีที่ลุกขึ้นยืน ในขณะที่อยู่ในท่านอนราบจะรู้สึกสบายดี อาจมีอาการกำเริบซ้ำได้บ่อย อาจมีประวัติเป็นเบาหวานหรือโรคพิษสุราเรื้อรัง หรือกินยา ก่อนเป็นลม หรือมีภาวะขาดน้ำหรือเลือดออก (เช่น ถ่ายดำ มีประจำเดือนออกมาก)
- เป็นลมจากโรคหัวใจ พบบ่อยในผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีประวัติเป็นโรคเรื้อรัง (เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ) หรือสูบบุหรี่ ก่อนเป็นลมหมดสติอาจมีอาการใจสั่น เจ็บหน้าอก หรือหายใจหอบเหนื่อยร่วมด้วย บางรายอาจมีอาการเป็นลมขณะใช้แรง (เช่น ยกของหนัก ทำงานหนัก) และอาจเป็นลม ขณะอยู่ในท่านอน ท่านั่ง หรือท่ายืนก็ได้
- เป็นลมจากโรคสมอง พบบ่อยในผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีประวัติเป็นโรคเรื้อรังหรือสูบบุหรี่ ก่อนเป็นลมหมดสติอาจมีอาการปวดศีรษะ บ้านหมุน เห็นภาพซ้อน พูดอ้อแอ้หรือไม่ชัด กลืนลำบาก เดินเซ แขนขาชาหรืออ่อนแรงร่วมด้วย
การรักษา เป็นลม
จำเป็นต้องตรวจหาสาเหตุ โดยการซักประวัติตรวจร่างกาย และอาจต้องตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น ตรวจเลือด (ดูภาวะซีด ระดับน้ำตาลในเลือด อิเล็กโทรไลต์ในเลือด เป็นต้น) คลื่นหัวใจ เอกซเรย์ปอด เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง เป็นต้น
ในรายที่มีอาการเป็นลมซ้ำซาก โดยหาสาเหตุไม่ได้ชัดเจน อาจทำการทดสอบที่เรียกว่า “Head-up tilt table test” (โดยใช้โต๊ะตรวจเฉพาะ จัดผู้ป่วยยืนทำมุม 70 องศานาน 45 นาที เพื่อกระตุ้นให้เกิดอาการเป็นลม) ซึ่งจะช่วยวินิจฉัยอาการเป็นลมจากหลอดเลือดและประสารทเวกัส (vasovagal syncope)
การรักษา แพทย์จะให้การรักษาตามสาเหตุที่พบดังนี้
1.ถ้าเป็นลมธรรมดา ควรแนะนำให้ผู้ป่วยปฏิบัติตัวดังนี้
ก.หลีกเลี่ยงเหตุกระตุ้น เช่น การอยู่ในฝูงชนแออัด อากาศร้อน การออกกลางแดด การยืนนานๆ การอดนอน เป็นต้น
ข. หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ทำให้เครียด ตื่นเต้นตกใจกลัว เช่น การเจาะเลือดขณะอยู่ในท่านั่งหรือยืนการเห็นเลือดอาการ เจ็บปวด เรื่องน่ากลัวหรือน่าตื่นเต้นเป็นต้น
ค.เมื่อมีอาการเตือน (เช่น ศีรษะเบาหวิว ตัวโคลงเคลง คลื่นไส้) ให้รีบนอนลงหรือนั่งบนเก้าอี้แล้ว ก้มศีรษะลงซุกอยู่
ระหว่างหัวเข่า 2 ข้างเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นลมหมดสติ
ง.สำหรับผู้ที่เป็นลมบ่อย แพทย์อาจพิจารณาให้ยาชนิดใดชนิดหนึ่ง ดังนี้
- ยากลุ่มปิดกั้นบีตา เช่น อะทีโนลอล 25-50 มก.วันละ 1 ครั้ง หรือเมโทโพรลอล (metoprolo) 25-50 มก วันละ 2 ครั้ง
- ยากลุ่ม mineralocorticoid เช่น ฟลูโดรคอร์ติโซน (fludrocortisone) 0.1-0.2 มก.วันละ 1 ครั้ง
- ยาหดหลอดเลือด(vasoconstrictor) เช่น เอฟีดรีน (ephedrine) 15-30 มก. หรือไม่โดดรีน (mi-dodrine) 2.5-10 มก.วันละ 3 ครั้ง
- ยากลุ่ม selective serotonin reuptake inhibitors เช่น ฟลูออกซีทีน 20 มก.วันละ 1 ครั้ง หรือเซอร์ทราลีน (sertraline) 25-50 มก.วันละ 1 ครั้ง
2.ถ้าเป็นลมจากอากัปกิริยาบางอย่าง ก็แนะนำให้หลีกเลี่ยงหรือควบคุมอากัปกิริยาที่เป็นสาเหตุ เช่น การไอ การเบ่งถ่าย เป็นต้น ถ้าเกิดจากความไวของคาไรติดไซนัสก็แนะนำให้หลีกเลี่ยงการสวมใส่เสื้อหรือเน็กไทรัดคอ ใช้มีดโกนไฟฟ้าแทนมีดโกนธรรมดา
3. ถ้าเป็นลมจากความดันตกในท่ายืน ก็แก้ไข ตามสาเหตุ เช่น ภาวะขาดน้ำหรือเสียเลือด ก็ได้น้ำเกลือหรือให้เลือด หากเกิดจากยาก็ปรับเปลี่ยนยาให้เหมาะสมเป็นต้น ควรแนะนำให้ผู้ป่วยลุกขึ้นช้าๆ จากท่านอนเป็นท่านั่ง แล้วจากท่านั่งจึงค่อยๆ ลุกขึ้นยืน การขยับขาก่อนลุกขึ้น ก็อาจทำให้เกิดอาการน้อยลง (เนื่องเพราะสามารถเพิ่มปริมาตรเลือดไหลกลับเข้าสู่หัวใจได้) นอกจากนี้ การนอนศีรษะสูงหรือใช้ถุงรัดน่อง (compression stocking) ก็อาจมีส่วนช่วยลดอาการได้ ในรายที่มีอาการบ่อยๆ แพทย์อาจพิจารณาให้ยา เช่น ฟลูโดรคอร์ติโซน(fludrocortisone)เอฟีดรีน หรือไมโดดรีน (midodrine)
4.ถ้าเป็นลมจากโรคหัวใจหรือโรคสมอง อาจจำเป็นต้องรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล และควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อพิจารณาให้ยารักษาหรือผ่าตัด แก้ไข ผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรได้รับการรักษาอย่างจริงจัง มิเช่นนั้นอาจมีโอกาสตายหรือพิการได้