โรควิตกกังวล

โรควิตกกังวล คือ โรคที่พบได้บ่อยชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยจะมีภาวะวิตกกังวลมากเกินกว่า เหตุเกี่ยวกับปัญหาหรือเหตุการณ์ทั่วไปในชีวิตประจำวันพร้อมกันหลายเรื่อง โดยไม่มีสาเหตุจากการเจ็บป่วย อื่น ๆ หรือจากการใช้ยาหรือสารเสพติด และไม่พบว่า เกิดจากสาเหตุจำเพาะอันใดอันหนึ่ง อาการมักเป็นเรื้อรัง นานเกิน 6 เดือน และส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต ประจำวัน  

โรคนี้พบได้ในคนทุกวัย มักมีอาการเกิดขึ้นครั้ง แรกในช่วงวัยเด็กและวัยรุ่น พบได้ประมาณร้อยละ3-8 ของประชากรทั่วไปเมื่อ ติดตามในช่วง 1 ปี พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 2 เท่า

สาเหตุ โรควิตกกังวล

ยังไม่ทราบแน่ชัด สันนิษฐานว่าอาจเกี่ยวกับปัจจัยด้านชีวภาพร่วมกับปัจจัยด้านจิดใจและสังคม

  • ปัจจัยทางชีวภาพ  เชื่อว่าเกี่ยวกับความผิดปกติ ของสารเคมีในสมอง ที่เรียกว่า สารส่งผ่านประสาท (neurotransmitters) หลายชนิด เช่น ซีโรโทนิน กรดแกมมาอะมิโนบูไทริก หรือกาบา (gammaaninobutyric acid /GABA) นอกจากนี้ยังเชื่อว่า อาจเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ ซึ่งจะพบว่าเด็กที่มีพ่อแม่เป็นโรคนี้ มีโอกาสเป็นโรคนี้สูงกว่าเด็กทั่วไป
  • ปัจจัยด้านจิตใจและสังคม เช่น การเลี้ยงดูของ พ่อแม่ที่มีการคาดหวังในความสำเร็จของลูกสูง การมีพ่อแม่เป็นโรควิตกกังวล บุคลิกภาพของผู้ป่วยที่มองโลกในแง่ร้ายและประเมินความสามารถในการแก้ปัญหาของตนเองต่ำเกินจริง การเผชิญกับความเครียดหรือเหตุการณ์ร้ายแรง เป็นต้น

อาการ โรควิตกกังวล

ที่สำคัญ คือ ผู้ป่วยจะมีความรู้สึกวิตกกังวลมาก เกินกว่าเหตุอยู่เกือบตลอดเวลาแทบทุกวัน ติดต่อกัน นานเกิน 6 เดือนโดยวิตกกังวลในปัญหาและเหตุการณ์ทั่วไปในชีวิตประจำวันพร้อมกันหลายเรื่องอย่างไร้เหตุผล และยากที่จะควบคุมไม่ให้กังวล เช่น กลัวสามีถูกทำร้าย ห่วงเรื่องการเรียนของลูก  กลัวคนในบ้านจะได้รับอุบัติเหตุ กลัวว่าตนเองจะเจ็บป่วย กลัวว่าจะทำงานได้ไม่ดี เป็นต้น ผู้ป่วยจะไม่มีปัญหาร้ายแรงที่ทำให้คิดมากอันใดอันหนึ่งเป็นการเฉพาะ

ผู้ป่วยมักมีอาการนอนหลับยาก หรือนอนกระสับ กระส่ายไม่เต็มที่ อาจรู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยล้าง่าย อยู่ไม่สุข ตื่นเต้น หงุดหงิดง่าย ขาดสมาธิ รู้สึกสมองว่างเปล่า คิดไม่ออก กล้ามเนื้อตึงเครียด (ทำให้ปวดศีรษะ ปวดตา เจ็บหน้าอก ปวดหลัง ปวดข้อ ปวดเมื่อยตามตัว) มีอาการมือเท้าสั่น หรือสั่นทั้งตัว บางคน อาจมีอาการใจสั่น หายใจไม่อิ่ม รู้สึกมีก้อนจุกคอ เหงื่อออกง่าย มือเย็น ท้องไส้ปั่นป่วน คลื่นไส้ ท้องเสีย ปากแห้ง เวียนศีรษะ ร่วมด้วย อาการมักเป็น ๆ  หาย ๆ และจะรุนแรงในช่วงที่มีความเครียด

การป้องกัน โรควิตกกังวล

  1. เมื่อพบผู้ป่วยมีภาวะวิตกกังวล ควรซักถามประวัติและตรวจดูอาการอย่างละเอียด เพื่อแยกแยะ สาเหตุบางครั้งอาจเกิดจากโรคทางกาย  แอลกอฮอล์ สารเสพติด ยา ความเครียดหรือปัญหาชีวิต หรืออาจมีโรคจิตประสาทอื่น ๆ (เช่น โรคซึมเศร้า โรคแพนิก โรคกลัว โรคย้ำคิดย้ำทำ)
    ร่วมด้วย ซึ่งมีวิธีการดูแลรักษาแตกต่างกันไป
  2. โรคกังวลทั่วไปมักเป็นๆหายๆเรื้อรังควรให้ ยารักษาต่อเนื่องอย่างน้อย 6-12 เดือน และควรแนะนำผู้ป่วย ดังนี้
    • ให้ความมั่นใจแก่ผู้ป่วยว่าโรคนี้ไม่มีอันตรายร้ายแรง สามารถควบคุมอาการด้วยยาที่ใช้รักษาจนสามารถดำเนินชีวิตเป็นปกติสุขได้และควรให้กำลัง ใจว่าโรคนี้ไม่ได้เกิดจากความผิดของผู้ป่วยแต่เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปรงของสารเคมีในสมอง
    • พบแพทย์เป็นประจำตามนัดและกินยาอย่างต่อเนื่อง อย่าปรับยาหรือหยุดยาเอง
    • ดูแลสุขภาพทั่วไปให้แข็งแรง ด้วยการเงินอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอออกกำลังกายเป็นประจำ และผ่อนคลายความเครียดด้วย การทำสมาธิ ฝึกโยคะ
    • หลีกเลี่ยงการเสพแอลกอฮอล์  สารเสพติดสารกระตุ้น กาเฟอีน ซึ่งอาจทำให้อาการแย่ลงได้
    • เมื่อมีภาวะเครียด ควรหาทางพูดคุยระบายกับญาติหรือเพื่อนสนิท
  3. ผู้ป่วยอาจมาปรึกษาหมอด้วยอาการทางกาย เช่น ปวดศีรษะ เจ็บหน้าอกหรือปวดหลังเรื้อรัง เวียนศีรษะ เหนื่อยง่าย ใจสั่น หายใจไม่อิ่ม มีก้อนจุกที่คอปวดท้อง ท้องเสีย เป็นต้น ควรตรวจร่างกายอย่างละเอียด เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ใช่มีสาเหตุจากโรคทางกาย ก่อนจะวินิจฉัยว่าเป็นโรควิตกกังวลหรือในกรณีที่พบว่าผู้ป่วยมีอาการเหล่านี้ไม่ทุเลาแม้จะได้รับการรักษาตามอาการมาสักระยะหนึ่ง ก็ ควรซักถามถึงอาการของโรคกังวลทั่วไป
  4. ห้ามบอกผู้ป่วยอย่างผิดๆว่าเป็นโรคหัวใจ โรคหัวใจอ่อน โรคประสาท โรคประสาทอ่อน โรคประสาทกระเพาะ โรคประสาทหัวใจ โรคความดันโลหิตต่ำ เลือดน้อย เป็นต้น เพราะผู้ป่วยจะเข้าใจผิดและเพิ่มความวิตกกังวลยิ่งขึ้น ควรอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจธรรมชาติของโรคและ หาทางดูแลรักษาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

การรักษา โรควิตกกังวล

1.ถ้าผู้ป่วยมีอาการเข้าได้กับเกณฑ์การวินิจฉัยโรคนี้ โดยไม่ได้เกิดจากสาเหตุอื่น และมั่นใจว่าไม่มีโรคทางกาย ก็ให้การรักษาด้วยยากล่อมประสาท เช่น ไดอะซีแพม ขนาด 5-15 มก./วัน ควรให้ต่อเนื่อง นาน 6 -12 เดือน จะช่วยลดอาการวิตกกังวลและอาการต่าง ๆได้ดี ถ้ามีอาการใจสั่น มือสั่น ควรให้โพรพราโนลอล เริ่มให้ขนาด 60-80 มก./วัน แล้วค่อย ๆ เพิ่ม จนถึงขนาดเต็มที่ 240 มก./วัน ควรแบ่งให้วันละ 2-4 ครั้ง แต่ต้องระวังผลข้างเคียง คือ อาการซึมเศร้า ชีพจร เต้นช้า คลื่นไส้ถ้ามีภาวะซึมเศร้าหรือโรคแพนิก ร่วมด้วยก็ ให้การรักษาแบบโรคซึมเศร้า หรือโรคแพนิก

2.ควรส่งปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ  ถ้าพบผู้ป่วย มีอาการข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้

  • สงสัยมีโรคทางกายที่ต้องการการตรวจพิเศษเพิ่มเติม
  • ให้ยา 2-4 สัปดาห์แล้วยังไม่ดีขึ้น
  •  มีโรคซึมเศร้าร่วมด้วยถึงขั้นรุนแรงหรือมีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย

แพทย์จะมีการวินิจฉัยให้แน่ชัด  ถ้าเป็นโรคกังวลทั่วไป ก็อาจปรับเปลี่ยนยาที่ใช้รักษาให้เหมาะสม และอาจต้องการให้การรักษาอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น การทำจิตบำบัด ครอบครัวบำบัด พฤติกรรมบำบัด การฝึกการผ่อนคลาย เป็นต้น

ผลการรักษา  มักจะได้ผลดี แต่ต้องกินยาต่อเนื่องอย่างน้อย 6 -12  เดือน หรือนานกว่านั้น หลังหยุดยา ประมาณร้อยละ 60-80 มีโอกาสกำเริบได้อีก


[Total: 9 Average: 4.9]