ปลายประสาทอักเสบ

ปลายประสาทอักเสบ คือ ความผิดปกติของประสาทส่วนปลาย (นอกเหนือจากสมองและไขสันหลัง) ทำให้ส่วนปลายของแขนขามีอาการชาและอ่อนแรง ซึ่งอาจเกิดขึ้นกับ ประสาทเส้นเดียว (mononeuropathy) หรือหลายเส้น พร้อมกัน (polyneuropathy) ก็ได้ โรคนี้พบมากในคนวัยกลางคนที่เป็นเบาหวาน หรือ ดื่ม แอลกอฮอล์จัด บางทีเรียก “ปลายประสาทเสื่อม”


สาเหตุ ปลายประสาทอักเสบ

เกิดจากประสาทส่วนปลายเสื่อม ซึ่งอาจมีสาเหตุจากการขาดอาหาร (เช่น โรคเหน็บชา โรคพิษสุราเรื้อรัง) เบาหวาน จากพิษของยา (เช่น ไอเอ็นเอช) พิษของสารเคมี (เช่น ยาฆ่าแมลง ตะกั่ว สารหนู) โรคติดเชื้อ (เช่น โรคเรื้อน คอตีบ โปลิโอ เอดส์) เอสแอลอี มะเร็ง (เช่น มะเร็งปอด มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เนื้องอกที่กดทับเส้นประสาท ภาวะบีบรัดเส้นประสาท (เช่น) เส้นประสาทมือถูกพังผืดรัดแน่น) หรือการได้รับบาดเจ็บของเส้นประสาท

อาการ ปลายประสาทอักเสบ

มักค่อย ๆ เกิดขึ้นช้า ๆ กินเวลาเป็นแรมเดือนหรือแรมปี โดยมีอาการชา รู้สึกซูซ่า หรือปวดแสบปวดร้อนตามปลายมือปลายเท้า ซึ่งมักจะเป็นมากตอนกลางคืน หรือเวลาสัมผัสถูก ถ้าเป็นมากจะรู้สึกชา เข็มแทงไม่เจ็บ โดยกินบริเวณปลายมือปลายเท้าคล้ายกับการใส่ถุงมือถุงเท้า

ผู้ป่วยอาจมีอาการปลายมือปลายเท้าอ่อนแรง  ถ้าเป็นมากอาจเป็นอัมพาต (เช่น มือตก เท้าตก หรือแขน ขาเป็นอัมพาต) กล้ามเนื้อลีบ เดินเซ

บางรายอาจมีอาการกลั้นอุจจาระปัสสาวะไม่ได้ ท้องเสีย มีภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ หรือความดันตกในท่ายืนในผู้ป่วยเบาหวานนอกจากอาการชาปลายมือปลายเท้าแล้ว ยังอาจมีอาการเห็นภาพซ้อน เนื่องจากประสาท เลี้ยงกล้ามเนื้อเคลื่อนไหวลูกตาเกิดการอักเสบหรือเสื่อม

การป้องกัน ปลายประสาทอักเสบ

  1. ผู้ที่มีอาการชาปลายมือปลายเท้านอกจากโรคเหน็บชาแล้ว ยังอาจมีสาเหตุอื่น ๆ ได้อีกมากมาย เมื่อให้ วิตามินบี 1 หรือบีรวมรักษาแล้วไม่ดีขึ้นควรส่งตรวจหาสาเหตุ 
  2. ผู้ป่วยที่เป็นโรคปลายประสาทอักเสบควรระมัดระวังการเกิดบาดแผลที่ปลายมือปลายเท้า ถ้าพบว่ามีบาดแผลหรือฟกซ้ำที่ปลายมือปลายเท้า ควรพบ แพทย์เพื่อให้การรักษาเสียแต่เนิ่น ๆ ถ้าปล่อยไว้แผลอาจลุกลามและรักษายาก
  3. ในรายที่มีสาเหตุจากโรคพิษสุรา ควรให้ผู้ป่วยเลิกดื่มแอลกอฮอล์ และฉีดวิตามินบีรวม 50 มก.หรือ วิตามินบี 1 ขนาด100 มก.ฉีดเข้ากล้ามเนื้อวันละ 1 ครั้ง นาน 5-7 วัน ถ้ามีอาการหงุดหงิดให้ไดอะซีแพม 5-10 มก.กินทุก 6-8 ชั่วโมง

การรักษา ปลายประสาทอักเสบ

ควรส่งโรงพยาบาลเพื่อตรวจหาสาเหตุ  อาจต้องตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ หรือตรวจพิเศษอื่น ๆ แล้วให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ เช่น รักษาเบาหวาน ตะกั่วเป็นพิษ โรคเหน็บชา โรคพิษสุราเรื้อรัง เป็นต้น ถ้าแขนขาอ่อนแรง  อาจให้การรักษาทางกายภาพ บำบัดร่วมด้วย

ผลการรักษา ถ้าเริ่มเป็นระยะแรก (ก่อนประสาทเสื่อมอย่างถาวร) และสามารถแก้ไขสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค นี้ได้ ก็มีทางรักษาให้หายขาดได้ บางรายอาจใช้เวลาค่อย ๆ ฟื้นตัว 6-12 เดือน อาการชาจะหายก่อน  ส่วนอาการ กล้ามเนื้ออ่อนแรงจะหายทีหลัง แต่ถ้าประสาทเสื่อมอย่างถาวร (เช่น  ผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นมานาน) การรักษามักไม่ค่อยได้ผล ผู้ป่วยจะมีอาการชาอย่างถาวร  ซึ่งต้องระวังไม่ให้เกิดบาดแผลที่เท้า

[Total: 1 Average: 5]