สมองบวม (Cerebral Edema) คือ ภาวะที่มีของเหลวส่วนเกินสะสมในสมอง อาจเกิดขึ้นกับสมองบางส่วนหรือทั่วทั้งสมอง จนทำให้สมองบวมและมีความดันในกะโหลกศีรษะเพิ่มขึ้น ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากการบาดเจ็บและอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ซึ่งภาวะนี้สามารถเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้หากรับการรักษาไม่ทันการณ์
สาเหตุ สมองบวม
สมองบวม คือ ผลสืบเนื่องจากหลากหลายสาเหตุ ที่พบบ่อยได้แก่ สมองช้ำจากอุบัติเหตุทางถนน โรคหลอดเลือดสมอง (แตก ตีบ หรือ อุดตัน) ทำให้สมองได้รับบาดเจ็บ โรคเนื้องอกสมอง โรคติดเชื้อ ภาวะสมองขาดออกซิเจน ภาวะไข้สูง เกลือแร่ น้ำตาล หรือสารน้ำในร่างกายผิดปกติมากหรือเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หลังอาการชัก การที่ร่างกายได้รับพิษเป็นปริมาณเกินกำหนด หรือขึ้นไปในที่สูงมาก ๆ ในกลุ่มนักปีนเขา
อาการ สมองบวม
อาการของสมองบวมขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรง ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในทันที โดยทั่วไปสามารถสังเกตได้จากอาการดังต่อไปนี้
- ปวดหัว เวียนหัว
- ปวดคอ คอแข็ง
- คลื่นไส้ อาเจียน
- อาการชา
- มีปัญหาในการมองเห็น
- เดินลำบาก
- พฤติกรรมและอารมณ์เปลี่ยนแปลงไป
- พูดผิดปกติ ไม่ชัด หรือพูดลำบาก
- อ่อนเพลีย
- โรคสมองเสื่อม
- ไม่รู้สึกตัว
- หมดสติ
- ชัก
การรักษา สมองบวม
เป้าหมายที่สำคัญของการรักษาภาวะสมองบวมคือ การลดหรือหยุดยั้งการบวมที่เกิดขึ้นแล้วและป้องกันไม่ให้เกิดความบวมใหม่ ดังนั้นการรักษาหลักเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวคือการรักษาโรคที่เป็นสาเหตุให้เกิดภาวะสมองบวม เช่น การให้ยาสลายลิ่มเลือดอุดตันในโรคหลอดเลือดสมองตีบ การผ่าตัดเนื้องอกสมอง การรักษาภาวะโพรงน้ำสมองคั่งด้วยการใส่สายระบายโพรงน้ำสมอง (CSF diversion) และการผ่าตัดนำก้อนเลือดออกในโรคหลอดเลือดสมองแตกหรือสมองบาดเจ็บ เป็นต้น นอกจากนี้แพทย์ควรเลือกการรักษาที่ตรงกับชนิดของภาวะสมองบวมที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละรายเพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีที่สุด
การรักษาผู้ป่วยที่พบภาวะสมองบวมและเริ่มมีอาการทางระบบประสาท ควรเริ่มให้การรักษาโดยทันที ซึ่งใช้หลักการเดียวกับการรักษาภาวะความดันภายในโพรงกะโหลกศีรษะสูง (increased intracranial pressure, IICP)(10) ซึ่งจะกล่าวถึงโดยละเอียดในบทถัดไป ร่วมกับการพิจารณาให้ยาลดภาวะสมองบวม ซึ่งปัจจุบันยารักษาภาวะสมองบวมที่มีหลักฐานสนับสนุนมีเพียง 2 ประเภท ได้แก่ยา glucocorticoid และยากลุ่ม osmotic ส่วนยากลุ่มใหม่ที่ออกฤทธิ์เฉพาะกับตัวรับตามกลไกที่เกี่ยวข้องกับการบวม เช่น VEGF antibody, NKCC1 inhibitor และ vasopressin receptor antagonist ยังอยู่ระหว่างการศึกษาเพิ่มเติม