เอสแอลอี (SLE)

เอสแอลอี (SLE) คือ ชื่อเรียกทับศัพท์ของอักษรย่อใน ภาษาอังกฤษ ซึ่งมีคำเต็มว่า systemic lupus erythe matosus โรคนี้มักจะมีความผิดปกติของอวัยวะได้หลายระบบ (เช่น ผิวหนัง ข้อกระดูก ไต ปอด หัวใจ เลือด สมอง  เป็นต้น) พร้อมๆ กัน และอาจมีความรุนแรงทำให้พิการ หรือตายได้ โรคนี้พบประปรายได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่พบมากในช่วงอายุ 20-45 ปี และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ประมาณ 10 เท่า

สาเหตุ เอสแอลอี (SLE)

ยังไม่ทราบแน่ชัด สันนิษฐานว่าเป็นผลมาจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย มีการตอบสนองอย่างผิดปกติต่อเชื้อโรคหรือสารเคมีบางอย่าง ทำให้มีการสร้างสารภูมิต้านทาน (แอนติบอดี) ต่อเนื้อเยื่อต่าง ๆ จึงจัดเป็นโรคภูมิต้านตนเอง (autoimmune) เช่นเดียวกับโรค ปวดข้อรูมาตอยด์ 

บางครั้งอาจพบมีสาเหตุกระตุ้นให้อาการกำเริบ เช่น ยาบางชนิด (ชนิด ซัลวา ไฮดราลาชีน เมทิลโดพา โปรเคนเอไมด์ ไอเอ็นเอช  คลอร์โพรมาซีน ควินิดีน  เฟนิโทอิน ไทโอยูราซิล) การถูกแดด การกระทบกระเทือนทางจิตใจ การตั้งครรภ์ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังสันนิษฐานว่า อาจเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเพศหญิง (เนื่องจากพบมากในหญิงวัยหลังมีประจำเดือน และก่อนวัยหมดประจำเดือน) และกรรรมพันธุ์ (พบมากในคนที่มีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคนี้)

อาการ เอสแอลอี (SLE)

ที่พบได้บ่อยคือ  มีไข้ อ่อนเพลีย  เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ปวดเหมื่อยตามตัว ปวดและบวมตามข้อต่าง ๆ ซึ่งโดยมากจะเป็นตามข้อเล็ก ๆ (เช่น ปวดข้อนิ้วมือ นิ้วเท้า) ทั้งสองข้างคล้าย ๆ กับโรคปวดข้อรูมาตอยด์ (แต่ต่างกันที่ไม่มีลักษณะหงิกงอ ข้อพิการ) ทำให้กำมือลำบาก

อาการเหล่านี้จะค่อยเป็นค่อยไปเป็นแรมเดือน

นอกจากนี้ผู้ป่วยยังมักจะมีผื่นหรือฝ้าแดงขึ้นที่ข้างจมูกทั้ง 2 ข้าง  ทำให้มีลักษณะเหมือนปีกผีเสื้อ เรียกว่า ผื่นปีกผีเสื้อ (butterfly  rash) บางรายมีอาการแพ้แดด  คือ เวลาถูกแดด ผิวหนังจะมีผื่นแดงเกิดขึ้นและผื่นแดงที่ข้างจมูก (ผื่นปีกผีเสื้อ) จะเกิดขึ้นชัดเจน  อาการไข้และปวดข้อจะเป็นรุนแรงขึ้น 

บางรายอาจมีจุดแดงแดง (petechiae)หรือมีประจำ เดือนมากหว่าปกติ  ซึ่งอาจเป็นอาการระยะแรก  ของโรคนี้ก่อนมีอาการอื่น ๆ ให้เห็นชัดเจน  บางครั้งแพทย์อาจวินิจฉัยว่าเป็นไอทีพี 

บางรายอาจมีอาการผมร่วงมาก มีจ้ำแดง ๆ ขึ้นที่ฝ่ามือ นิ้วมือนิ้วเท้าซีดขาวและเปลี่ยนเป็นสีเขียวคล้ำเวลาถูกความเย็น (Raynaud’s  phenomenon) หรือมีภาวะโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงถูกทำลาย

ในรายที่เป็นรุนแรง อาจมีอาการบวมทั้งตัว (จากไตอักเสบ) หายใจหอบ (จากปอดอักเสบ ภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด หรือหัวใจวาย) ชีพจรเต้นเร็วหรือไม่เป็นจังหวะ (จากหัวใจอักเสบ)

ในรายที่มีการอักเสบของหลอดเลือดในสมอง อาจทำให้มีอาการทางประสาท  เช่น  เสียสติ ซึม เพ้อ ประสาทหลอน แขนขาอ่อนแรง  ตาเหล่  ชัก หมดสติ  และอาจตายภายใน 3 - 4 สัปดาห์ ส่วนมากจะมีอาการกำเริบ เป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง เป็นปี ๆ

การป้องกัน เอสแอลอี (SLE)

  1. โรคนี้สามารถแสดงอาการได้หลายแบบ เช่น มีไข้เรื้อรังคล้ายมาลาเรีย เอดส์ วัณโรค มีจุดแดงขึ้นคล้ายไอทีพี บวมคล้ายโรคไตเนโฟรติก ชักหรือหมดสติคล้ายสมองอักเสบ เสียสติ  เพ้อคลั่งคล้ายคนวิกลจริต เป็นต้น ดังนั้น ถ้าพบผู้ป่วยที่มีอาการเรื้อรัง ไม่ว่าจะเป็นอาการของระบบใด โดยไม่ทราบสาเหตุควรนึกถึงโรคนี้ไว้เสมอ
  2. โรคนี้ถึงแม้จะมีความรุนแรง แต่ถ้าติดต่อรักษา กับแพทย์เป็นประจำ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ อย่างเคร่งครัด จะช่วยลดภาวะแทรกซ้อน  และมีชีวิตยืนยาวได้
  3. ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้อาจป้องกันมิให้อาการกำเริบได้ โดยการทำจิตใจให้สบาย  อย่าท้อแท้สิ้นหวังหรือวิตก  กังวลจนเกินไปส่วนผู้ที่แพ้แดดง่าย  ควรหลีกเลี่ยงการ ออกกลางแดด ถ้าจำเป็นต้องออกกลางแดด  ควรกางร่มใส่หมวกใส่เสื้อแขนยาว
  4. ผู้ป่วยมักมีภูมิคุ้มกันต่ำ ควรพยายามหลีกเลี่ยงการติดเชื้อ เช่น อย่ากินอาหารหรือน้ำดื่มที่ไม่สะอาด อย่าเข้าใกล้คนที่ไม่สบาย อย่าเข้าไปในที่ที่มีคน แออัด เป็นต้น และทุกครั้งที่รู้สึกไม่สบาย  ควรรีบไปพบแพทย์ที่เคยรักษา

การรักษา เอสแอลอี (SLE)

หากสงสัย  ควรแนะนำไปโรงพยาบาลโดยเร็ว การตรวจเลือดพบว่า  ค่าอีเอสอาร์  (ESR) สูง  พบแอนตินิวเคลียร์แฟกเตอร์ (antinuclear factor) และ แอลอีเชลล์ (LE cell)

ตรวจปัสสาวะอาจพบสารไข่ขาวและเม็ดเลือดแดง นอกจากนี้  อาจทำการตรวจเอกซเรย์  คลื่นหัวใจ และตรวจพิเศษอื่น ๆ

การรักษา ในรายที่เป็นไม่รุนแรง (เช่น มีไข้ ปวดข้อ  มีผื่นแดงขึ้นที่หน้า) อาจเริ่มให้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สติรอยด์ ถ้าไม่ได้ผลอาจให้ไฮดรอกชีคลอโรควีน (hydroxychloroquine) วันละ 1- 2 เม็ด เพื่อช่วยลดการเหล่านี้ 

ในรายที่เป็นรุนแรง  แพทย์จะให้สติรอยด์ เช่น เพร็ดนิโชโลน ขนาด 8 - 12 เม็ด/วัน  ติดต่อกันเป็น สัปดาห์หรือหลายเดือน  เพื่อลดการอักเสบของอวัยวะ ต่าง ๆ เมื่อดีขึ้นจึงค่อย ๆ ลดยาลง และให้ในขนาดต่ำ  ควบคุมอาหารไปเรื่อย ๆ อาจนานเป็นแรมปีหรือจนกว่า จะเห็นว่าปลอดภัย ถ้าไม่ได้ผล  อาจต้องให้ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ไซโคลฟอสฟาไมด์ (cyclophosphamide) อะชาไทโพรีน (azathiooprine) เป็นต้น ยานี้เป็นยาอันตรายอาจทำให้ผมร่วงหรือศีรษะล้านได้  เมื่อหยุดยา  ผมจะงอกขึ้นใหม่ได้ นอกจากนี้  อาจให้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาแก้ปวดลดไข้  ยาบำรุงโลหิต (ถ้าซีด) ยาปฏิชีวนะ (ถ้ามีการติดเชื้อ) เป็นต้น

ผลการรักษาไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับความรุนแรง  ของโรคและตัวผู้ป่วย  บางรายอาจมีโรคแทรกซ้อน  และ ถึงแก่กรรมในเวลาไม่นาน บางรายอาจมีอาการกำเริบเป็นครั้งคราว  ถ้าผู้ป่วยสามารถมีชีวิตรอดจากภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้เกิน 5 ปี โรคก็จะไม่กำเริบรุนแรง  และค่อย ๆ  สงบไปได้  นาน  ๆ ครั้งอาจมีอาการกำเริบ แต่อาการมักจะไม่รุนแรง  และ ผู้ป่วยสามารถมีชีวิตเยี่ยงคนปกติได้

[Total: 1 Average: 4]