การตัดชิ้นเนื้อจากกระดูกส่งตรวจ (Bone biopsy)

การตัดชิ้นเนื้อกระดูก (Bone biopsy) คือ การนำเอาชิ้นส่วนหรือแกนกลางของกระดูกไปตรวจดูเซลล์  ถ้าใช้เข็มเจาะต้องฉีดยาชา ถ้าใช้การผ่าตัดต้องให้ยาสลบ

การตัดชิ้นเนื้อกระดูกส่งตรวจ เป็นข้อบ่งชี้ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดกระดูกและกดเจ็บ โดยตรวจหลังจากทำสแกนกระดูก (bone  scan)  ทำสแกนคอมพิวเตอร์ (CT scan) เอกซเรย์ (X – ray) หรือการตรวจเอกซเรย์หลอดเลือด (arteriography) แล้วพบก้อนหรือมีลักษณะที่ผิดปกติ  การตัดชิ้นเนื้อกระดูกด้วยการผ่าตัดใช้สิ่งส่งตรวจที่ยาวกว่าการตัดชิ้นเนื้อกระดูกแบบเจาะ และสามารถให้การรักษาด้วยการผ่าตัดได้ทันทีหากวิเคราะห์ด้วยการดูดเซลล์ของสิ่งส่งตรวจ และพบว่าเป็นเซลล์มะเร็ง

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้  เช่น กระดูกหัก เนื้อเยื่อรอบ ๆ ได้รับบาดเจ็บมีการติดเชื้อ (osteomyelitis) และมีการปนเปื้อนของเนื้อเยื่อปกติด้วยเซลล์เนื้องอก

วัตถุประสงค์
เพื่อแยกแยะระหว่างเนื้องอกกระดูก (benign  bone  tumors) และโรคมะเร็งกระดูก (malignant  bone  tumors)

การเตรียมผู้ป่วย

  1. อธิบายการตรวจให้ผู้ป่วยทราบและตอบคำถามของผู้ป่วย
  2. บอกผู้ป่วยว่าการตรวจนี้ต้องตัดชิ้นเนื้อกระดูกไปตรวจ (bone  specimen)โดยใช้กล้องจุลทรรศน์ส่อง
  3. หากผู้ป่วยทำการตัดชิ้นเนื้อด้วยวิธีเจาะ (drill biopsy)  ผู้ป่วยไม่ต้องงดน้ำงดอาหาร ทำการตัดชิ้นเนื้อด้วยวิธีเปิด (open biopsy) ผู้ป่วยต้องงดอาหารตลอดคืนก่อนตรวจ
  4. บอกผู้ป่วยว่าใครเป็นผู้ตรวจและสถานที่ตรวจ
  5. บอกผู้ป่วยว่าจะได้รับการฉีดยาชาแต่จะรู้สึกไม่สุขสบายและมีแรงกดเมื่อเข็มที่ตัดชิ้นเนื้อแทงเข้าไปในกระดูก
  6. อธิบายว่าจะมีอุปกรณ์ที่มีลักษณะเป็นเข็มแทงเข้าไปในกระดูก  หากเป็นไปได้หยิบภาพของเครื่องมือที่ใช้เจาะให้ผู้ป่วยดู ความเครียดมีความสำคัญกับความร่วมมือของผู้ป่วยระหว่างการทำ biopsy
  7. ให้ผู้ป่วยหรือญาติเซ็นใบยินยอมรับการตรวจรักษา
  8. ตรวจสอบประวัติผู้ป่วยว่าแพ้ยาชาหรือไม่

การตรวจและการดูแลหลังตรวจ

Drill  biopsy
1.จัดผู้ป่วยให้อยู่ในท่าที่เหมาะสมและตำแหน่งที่จะทำได้รับการโกน (shave) และเตรียมบริเวณที่จะทำ drill biopsy
2.หลังจากฉีดยาชา  ตัดชิ้นเนื้อกระดูกเล็ก ๆ (ตามปกติประมาณ  3 มิลลิเมตร) และใช้เข็มตัดชิ้นเนื้อ (biopsy needle) ดันโทรคา (trocar) เข้าไปในกระดูก แล้วหมุนประมาณ 180 องศา
3.เมื่อถึงแกนกลางของกระดูก ให้ดึง trocar ออก และใส่ชิ้นเนื้อกระดูกในขวดที่มีน้ำยา 10% formalin โดยเขียนข้างขวดไว้เรียบร้อย  แล้วใช้ก๊อสปราศจากเชื้อกดตำแหน่งที่เจาะ
4.เมื่อหยุดเลือดได้แล้วทาแผลด้วยยาระงับเชื้อ เช่น povidone – iodine Ointment  และปิดแผลเพื่อป้องกันการติดเชื้อ

Open  biopsy
1.ให้ผู้ป่วยดมยาสลบและตำแหน่งที่จะทำได้รับการโกน (shave) ทำความสะอาดด้วยสบู่ที่ใช้ทำผ่าตัด และเตรียมบริเวณที่จะตัดชิ้นเนื้อ เช็ดด้วยไอโอดีนและแอลกอฮอล์
2.กรีดและตัดชิ้นเนื้อกระดูกและส่งไปยัง  histology laboratory  ทันทีเพื่อวิเคราะห์

ทั้ง  Drill  biopsy  และ Open  biopsy
1.บันทึกสัญญาณชีพและตรวจดูตำแหน่งที่ตัดชิ้นเนื้อ  ระบุปริมาณที่คาดว่าจะมีสิ่งที่ระบายออกมาเท่าไร และรายงานสิ่งที่ระบายออกมาที่มากเกิน
2.หากผู้ป่วยมีอาการปวด ให้ยาแก้ปวด
3.หลังจากการตัดชิ้นเนื้อไปหลาย ๆ วันแล้ว ให้สังเกตดูว่ามีอาการติดเชื้อที่กระดูกหรือไม่ เช่น มีไข้  ปวดศีรษะ ปวดเวลาเคลื่อนไหว บริเวณที่เจาะแดงหรือมีฝีใกล้ ๆตำแหน่งที่ตัดชิ้นเนื้อ รายงานให้แพทย์ทราบหากมีอาการดังกล่าว

ข้อควรระวัง
1.Bone  biopsy  ควรจะทำอย่างระมัดระวังในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด
2.ส่งสิ่งส่งตรวจไปห้องตรวจทันที

ผลการตรวจที่เป็นปกติ
เนื้อเยื่อกระดูกที่เป็นปกติ  ประกอบด้วยเส้นใยของคอลลาเจน (Collagen) เซลล์กระดูกที่โตเต็มที่แล้ว (Osteocytes) และออสติโอบลาสต์ (Osteoblasts) กระดูกอาจถูกอัดแน่น (compact)  หรือกระดูกพรุน (cancellous) กระดูกแข็ง (Compact  Bone) จะอัดแน่นมีแร่ธาตุเกาะอยู่เป็นวงรอบ  หรือแต่ละวงเรียงกันเป็นชั้น ๆ (lamellae) ส่วนกระดูกพรุนมีวงรอบกระดูกเรียงกันเป็นชั้น ๆ มีเซลล์กระดูกที่โตเต็มที่แล้ว  และมีไขกระดูกสีแดงและเหลืองอยู่ระหว่างเซลล์กระดูกที่โตเต็มที่แล้ว

ผลการตรวจที่ผิดปกติ
การตรวจชิ้นเนื้อ (histologic  examination) ของชิ้นเนื้อกระดูกสามารถ พบก้อนเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงไม่ใช่มะเร็ง (benign  tumors) หรือพบก้อนที่ผิดปกติที่ เป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็ง (malignant  tumors or  cancer) เนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงจะมีขอบเขตชัดเจนไม่แพร่กระจาย  ส่วนเนื้อร้ายหรือมะเร็ง จะแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว เซลล์มะเร็งส่วนมากที่แพร่กระจายไปยังกระดูกจะมาทางระบบเลือดและระบบน้ำเหลืองจากมะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งต่อมไทรอยด์  หรือมะเร็งไต

[Total: 0 Average: 0]