การถ่างขยายหลอดเลือดหัวใจ (Percutaneous Coronary Intervention: PCI)

การถ่างขยายหลอดเลือดหัวใจ (Percutaneous Coronary Intervention: PCI) คือ หนึ่งในการรักษาหลอดเลือดหัวใจในปัจจุบัน ซึ่งแบ่งเป็นการรักษาด้วยสายสวนหรือชนิดไม่ผ่าตัดและการรักษาด้วยการผ่าตัด (Coronary artery Bypass Surgery: CABG)

การถ่างขยายหลอดเลือดหัวใจ (Percutaneous Coronary Intervention: PCI) เป็นการรักษาแบบไม่ผ่าตัด โดยทำการขยายหลอดเลือดหัวใจโดยการใช้บอลลูนขยายหลอดเลือด หลังจากนั้นตามด้วยการใช้ขดลวดที่ไม่ใช่เหล็กเป็นโลหะสังเคราะห์ ใส่ขยายเพื่อรักษาสภาพของหลอดเลือดไม่ให้กลับมาตีบซ้ำและคงสภาพของหลอดเลือดที่เปิดด้วยการทำบอลลูนไว้และมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้ยาต้านเกล็ดเลือดอย่างน้อย 1 – 2 ตัว เพื่อไม่ให้เกิดการตีบซ้ำและรักษาสภาพของขดเลือดไว้เสมอ ซึ่งชนิดของขดลวดแบ่งเป็นชนิดไม่เคลือบยา, เคลือบยา (Drug-eluting) และชนิดสารย่อยสลายตามธรรมชาติ

ทำที่ไหน

PCI ต้องทำในห้องฉีดสี, สวนหัวใจ (Cardiac Catheterization) เหมือนกันกับการทำฉีดสีหัวใจ, การรักษาจี้ไฟฟ้าหัวใจหรือการรักษาไฟฟ้าหัวใจ

การเตรียมตัวก่อนทำ การถ่างขยายหลอดเลือดหัวใจ (Percutaneous Coronary Intervention: PCI)

     1. งดน้ำและอาหารอย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนตรวจ

     2. ผู้ป่วยบางรายแพทย์อาจแนะนำให้รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเกร็ดเลือด เช่น Aspirin, Clopidogrel มาก่อน 5-7 วัน หรือหากไม่ได้รับประทานยามาผู้ป่วยจะได้รับในวันที่ทำหัตถการขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

     3. หากมีประวัติแพ้ยา อาหารทะเล หรือเลือดออกง่ายและหยุดยาก ต้องแจ้งให้แพทย์หรือพยาบาลทราบล่วงหน้า

     4. หากมีประวัติการตรวจอื่นๆ เช่น  ฟิล์มเอกซเรย์ปอดและหัวใจ ผลการตรวจเลือดที่ไม่เกิน 1 เดือน ผลการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) ผลการตรวจสมรรถภาพของหัวใจด้วยการออกกำลังกาย (EST) หรือผลของการตรวจคลื่นสะท้อนหัวใจ (Echocardiography) ควรนำมาให้แพทย์ดูก่อน

     5. ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจเลือดเพื่อประเมินหน้าที่ของไต การตรวจเชื้อไวรัส เช่น ไวรัสตับอักเสบบี  ไวรัสเอดส์ เป็นต้น

     6. ควรนำยาที่รับประทานเป็นประจำติดตัวมาด้วย

     7. ควรมีญาติมาด้วยเพื่อช่วยในการตัดสินใจร่วมกับแพทย์และผู้ป่วย

     8. ผู้ป่วยต้องลงชื่อในใบยินยอมการรักษาก่อนการตรวจ

ขั้นตอน การถ่างขยายหลอดเลือดหัวใจ (Percutaneous Coronary Intervention: PCI) ประกอบไปด้วย

  1. ฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ
  2. การขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน
  3. การใช้ขดลวด
  4. การเจาะแคลเซียมแข็งในหลอดเลือด
  5. การใช้อัลตราซาวนด์ขนาดเล็กในหลอดเลือดหัวใจ
  6. การวัดสัดส่วนของการไหลของหลอดเลือดหัวใจ

เมื่อทำการฉีดสีหลอดเลือดหัวใจเสร็จเรียบร้อยแล้วและได้ทราบผลของการฉีดสีและจำเป็นที่ต้องทำการรักษาด้วยการซ่อมแซมและเปิดหลอดเลือดหัวใจเป็นการรักษาขั้นต่อไปที่ดีที่สุดและเหมาะสมที่สุดแล้วกับผู้ป่วยและญาติ หลังจากนั้นจึงเริ่มเข้าสู่การรักษาด้วยการ PCI

  • PTCA การเปิดหลอดเลือดที่ตีบของเส้นเลือดหัวใจ ไม่ว่าจะเป็นจากคราบไขมัน, แคลเซียมหรือลิ่มเลือด เพื่อให้เลือดกลับมาไหลเวียนได้อีกครั้งและทำให้เลือดนำออกซิเจนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ เป็นการใช้สายตัวนำใส่เข้าไปในหลอดเลือดหัวใจที่ตีบโดยตรง เมื่อได้ตำแหน่งที่เหมาะสม บอลลูนเล็ก ๆ จะถูกขยายตัวออก เพื่อให้หลอดเลือดที่ตัน-ตีบแคบขยายตัวและเปิดเส้นเลือด ทำให้รูของหลอดเลือดเปิดและขยายใหญ่ขึ้น โดยการใช้ Fluoroscope หรือ X-Ray เป็นตัวช่วยในการสร้างภาพและนำสาย Catheter ต่าง ๆ ไปยังตำแหน่งที่ถูกต้องเหมาะสม
  • IVUS คือการใช้อัลตราซาวนด์ที่มีหัวตรวจเล็กมากที่สามารถใส่เข้าไปในหลอดเลือดหัวใจได้ เพื่อสร้างภาพอัลตราซาวนด์ในหลอดเลือดหัวใจโดยตรง โดยวิธีนี้จะสามารถเห็นภาพของหลอดเลือดหัวใจ, ความหนาของหลอดเลือดรวมถึงคราบตะกรัน, ไขมันและแคลเซียมต่าง ๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจในการรักษาว่าจำเป็นต้องใช้ขดลวดหรือขนาดของขดลวดที่เหมาะสม
  • FFR เป็นการตรวจหาสัดส่วนของการไหลของเลือดและความสามารถในการไหลของเลือดในหลอดเลือดหัวใจ โดยเทคนิคการวัดด้วยการใช้สายสวนเส้นเลือดหัวใจในหลอดเลือดที่ก้ำกึ่งว่าตีบตันหรือไม่ ในขั้นตอนการตรวจจะใส่สายเล็ก ๆ เข้าไปในหลอดเลือดหัวใจที่ตีบตันอยู่ และใส่ยาที่ทำการขยายหลอดเลือดหัวใจ และวัดความดันที่เปลี่ยนแปลงไปในหลอดเลือดหัวใจ ขณะที่ทำการขยายด้วยยาแล้ว ซึ่งจะสามารถทำให้ทราบถึงความจำเป็นว่าต้องมีการใส่ขดลวดเพื่อการรักษาต่อไปหรือไม่
  • Coronary Atherectomy คือ การใช้หัวกรอในการสลายและกรอส่วนที่เป็นหินปูนแข็งและอยู่ในผนังของหลอดเลือด โดยการใช้หัวกรอเล็กๆ หมุนเป็นสว่าน เจาะเข้าไปในคราบหินปูนที่แข็งและอุดตันหลอดเลือดนั้น  

ความเสี่ยงของ การถ่างขยายหลอดเลือดหัวใจ (Percutaneous Coronary Intervention: PCI)

ความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นของการทำใส่ขดลวด, การกรอหลอดเลือด เช่น

  • เลือดออกบริเวณที่มีการใส่สายสวน (เช่น ที่ขาหนีบหรือข้อมือ)
  • บาดเจ็บตรงหลอดเลือดบริเวณที่ทำ
  • บาดเจ็บตรงหลอดเลือดที่ใส่ขดลวดที่หลอดเลือดหัวใจ
  • มีการติดเชื้อแทรกซ้อนบริเวณแผลที่ทำ
  • ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • เกิดการขาดเลือดของกล้ามเนื้อหัวใจฉับพลัน
  • อัมพฤกษ์ อัมพาต
  • เจ็บหน้าอก
  • การแตกของหลอดเลือดหัวใจที่จำเป็นต้องทำการผ่าตัดเส้นเลือดหัวใจฉุกเฉิน
  • ความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์, แพ้สารทึบแสง
  • ควรจะต้องมีการพูดคุยและปรึกษาแพทย์ผู้ทำการรักษาในเรื่องของโอกาสในการเกิดภาวะแทรกซ้อน
[Total: 0 Average: 0]