เริ่มจากสภาพทั่วๆไป ผู้ป่วยจะอ่อนเพลีย อ่อนแรง อิดโรย เหนื่อยง่าย ขาดสมาธิ หงุดหงิดง่าย ผู้ป่วยโรคไตบางรายจะซูบลง น้ำหนักลด แต่โรคไตบางชนิดอาจทำให้ผู้ป่วยบวม น้ำหนักมากขึ้น
ทางด้านผิวหนัง จะซีด คัน มีจ้ำเลือดเกิดขึ้นง่าย ผิวหนังแตกแห้ง เป็นแผลแล้วหายช้า ผู้ป่วยบางรายจะมีผิวหนังตกสะเก็ดดำคล้ำกว่าปกติ
ระบบทางเดินอาหาร จะมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปากขม ไม่สามารถรับรสอาหารได้ สะอึก ปวดท้อง ท้องเดิน เลือดออกในกระเพาะอาหารหรือลำไส้ เป็นแผลในกระเพาะและลำไส้
ระบบหัวใจและการหายใจ ถ้าไตทำงานได้น้อยลงจนขับปัสสาวะและเกลือแร่ไม่ได้ ผู้ป่วยจะมีอาการบวมทำให้หัวใจทำงานไม่ไหว เหนื่อยง่าย นอนราบแล้วหายใจลำบาก ความดันโลหิตสูง หัวใจโต กล้ามเนื้อหัวใจเสื่อมสภาพ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ อาจเกิดภาวะน้ำคั่งในเยื่อหุ้มหัวใจ น้ำคั่งในปอด ปอดบวม ทำให้หายใจไม่ออก ไอเป็นเลือด
ด้านระบบประสาท สมองและกล้ามเนื้อ ผู้ป่วยจะมีปลายประสาทเสื่อม ทำให้มือเท้าชา กล้ามเนื้อกระตุก เป็นตะคริวและกล้ามเนื้ออ่อนแรง เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ขาดสมาธิ สมองเสื่อม ไม่สามารถคิดและจดจำได้เหมือนปกติ ในที่สุดอาจชักและหมดสติไปได้
ระบบกระดูก แคลเซียมต่ำจะทำให้กระดูกผุกร่อน กระดูกอ่อน เด็กที่มีไตวายจะหยุดเจริญเติบโตแคระแกร็น
ระบบทางเดินปัสสาวะ ผู้ป่วยที่มีไตวายระยะแรกๆ ในตอนกลางคืนจะปัสสาวะบ่อยและมีสีจาง จนที่สุดเมื่อไตทำงานเสื่อมลงหรือไม่ทำงานเลย ผู้ป่วยจะมีปัสสาวะออกน้อย
ระบบโลหิต เม็ดเลือดแดงน้อยทำให้โลหิตจาง ผู้ป่วยทุกรายเมื่อไตเสื่อมลง จะมีอาการซีด การทำงานของเกล็ดเลือดผิดปกติ เป็นสาเหตุให้มีเลือดออกง่าย เลือดไหลไม่หยุด มีจ้ำเลือดขึ้นตามตัว
ระบบภูมิต้านทานโรค ผู้ป่วยโรคไตวายมักจะมีภูมิต้านทานโรคต่ำ เป็นสาเหตุให้ติดเชื้อได้ง่าย
ระบบฮอร์โมนอื่นๆ ในร่างกายผู้ป่วยโรคไต มักจะมีการทำงานผิดปกติของฮอร์โมนเกือบทุกชนิด ทั้งฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง จากต่อมไธรอยด์ จากต่อมพาราไธรอยด์ จากต่อมหมวกไต ฮอร์โมนจากรังไข่เพศหญิง ทำให้ประจำเดือนผิดปกติ ฮอร์โมนจากลูกอัณฑะในเพศชาย ทำให้เป็นหมันและหมดสมรรถภาพทางเพศ
อาการ โรคไต
[Total: 0 Average: 0]