กระเพาะหรือลำไส้อุดกั้น เป็นภาวะที่กระเพาะอาหารหรือลำไส้เกิดการอุดกั้น ทำให้อาหารผ่านลงไปไม่ได้ถือเป็นภาวะร้ายแรง หากไม่ได้รับการรักษามักมีอันตรายถึงตายได้ โรคนี้พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่
สาเหตุ กระเพาะหรือลำไส้อุดกั้น
ส่วนมากมักมีสาเหตุมาจากการดึงรั้งของพังผืดในช่องท้อง (adhesions) ภายหลังการผ่าตัดหรือการอักเสบ ไส้เลื่อน ชนิดติดคาโรคแผลเพ็ปติกที่มีการตีบตันของปลายกระเพาะอาหารแทรกซ้อน มะเร็งของกระเพาะอาหารหรือลำไส้ โรคพยาธิไส้เดือน ลำไส้บิดตัด (volvulus) บางรายอาจเกิดจากสิ่งแปลกปลอม เช่น เมล็ดผลไม้ นอกจากนี้ยังมีสาเหตุที่อาจพบได้ในทารกหรือเด็กเล็ก เช่น
- กระเพาะส่วนปลายตีบแต่กำเนิด (congenitalPyloric stenosis) มักพบในช่วงอายุ 2-8 สัปดาห์
- ลำไส้กลืนกัน (intussusception) เป็นภาวะที่พบได้น้อย อาจพบได้ในทุกช่วงอายุ แต่พบมากในทารกอายุประมาณ 6 เดือน และพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง
อาการ กระเพาะหรือลำไส้อุดกั้น
ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่อุดกั้น ถ้าอุดกั้นที่ลำไส้เล็กมักมีอาการปวดบิดเกร็งเป็นพักๆ ที่บริเวณรอบๆ สะดือ และอาเจียนพุ่งรุนแรงติดๆ กัน มักมีเศษอาหารหรือน้ำดี (สีเขียวและขม) ออกมา ถ้าอุดกั้นที่ลำไส้มักไม่มีอาการอาเจียน หรือไม่ก็มีเพียงเล็กน้อย
นอกจากนี้ไม่ว่าการอุดกั้นจะเกิดตรงตำแหน่งใด ๆ ถ้าการอุดกั้นเป็นไปอย่างสมบูรณ์ มักมีอาการท้องผูกร่วมด้วยเสมออาจไม่มีการผายลมเลยถ้าอุดกั้นอย่างสมบูรณ์ที่ลำไส้ใหญ่ อาการท้องอืดไม่ชัดเจนในระยะแรก แต่ต่อมาจะค่อย ๆ มีมากขึ้น ถ้าเป็นอยู่หลายวันมักมีภาวะขาดน้ำ และอาจมีภาวะช็อก (เหงื่อออก ตัวเย็น กระสับกระส่าย ชีพจรเบาเร็ว ความดันโลหิตต่ำ ปัสสาวะออกน้อย) บางครั้งอาจมองเห็นการเคลื่อนไหวของลำไส้ที่หน้าท้อง
เมื่อใช้เครื่องฟังตรวจที่หน้าท้องจะได้ยินเสียง โครกครากของลำไส้ติดกันถี่ๆ เป็นเสียงแหลม และถ้าเขย่าท้องอาจได้ยินเสียงเหมือนน้ำกระฉอก อาจพบรอยแผลผ่าตัดที่หน้าท้อง หรือก้อนนูนของไส้เลื่อนที่บริเวณขาหนีบ หรือถุงอัณฑะ
ในทารกที่เกิดจากกระเพาะส่วนปลายตีบ จะมีอาการอาเจียนพุ่งแรงออกมาเป็นเศษนมมีกลิ่นเหม็นในระยะแรกเด็กยังรู้สึกหิวและเคลื่อนไหวแข็งแรง อาการอาเจียนจะเป็นอยู่เรื่อยๆ จนต่อมาเด็กจะน้ำหนักลด กระสับกระส่าย และถ่ายอุจจาระน้อยลงเรื่อย ๆ สังเกตที่หน้าท้องมักพบการเคลื่อนไหวของลำไส้ และอาจคลำได้ก้อนที่บริเวณส่วนปลายของกระเพาะอาหาร ถ้าไม่ได้รับการรักษาเด็กจะมีภาวะขาดน้ำ ซึม ซักและตายได้
ในเด็กที่เกิดจากลำไส้กลืนกันเอง มักมีอาการปวดท้องรุนแรงเป็นพักๆ (ถ้าเป็นในทารกจะมีอาการร้องให้เสียงดังนานหลายนาที เว้นช่วงเงียบไปพักหนึ่งแล้วร้องขึ้นอีก) และอาจมีอาการอาเจียน บางครั้งอาจถ่ายเป็นมูกปนเลือดคล้ายเยลลี่
การรักษา กระเพาะหรือลำไส้อุดกั้น
หากสงสัยให้ส่งโรงพยาบาลด่วน ควรให้งดน้ำและอาหาร และถ้ามีภาวะขาดน้ำหรือช็อก ควรให้น้ำเกลือไประหว่างทางด้วย มักต้องเอกซเรย์ และทำการผ่าตัดฉุกเฉิน
ในเด็กที่มีสาเหตุจากลำไส้กลืนกันเองอาจรักษาโดยวิธีสวนแป้งแบเรียม พร้อมกับถ่ายเอกซเรย์ แรงดันจากการสวนแป้งแบเรียม อาจดันให้ลำไส้กลับคืนสู่สภาพปกติได้ แต่ถ้าไม่ได้ผลก็ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด
- パズルは解かれました。チャンタブリー県の「下痢」村の結び目を解きます。
- ท้องผูก: ใครว่าไม่สำคัญ หมั่นรักษาดูแลแก้ไขได้
- โรคลำไส้อุดตัน: ในเด็กทารก อันตรายแค่ไหน