โรคแอดดิสัน

โรคแอดดิสัน หมายถึง ภาวะพร่องฮอร์โมนสตีรอยด์เรื้อรัง (chronic adrenocortical insufficiency) เป็นภาวะที่พบได้น้อยมาก
พบมากในคนอายุ 30-50 ปี เป็นโรคที่อาจมีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง

สาเหตุ โรคแอดดิสัน

                เกิดจากต่อมหมวกไตสร้างฮอร์โมนสตีรอยด์ได้น้อยกว่าปกติ ตรงกันข้ามกับโรคคุชชิงที่สร้างฮอร์โมนมากกว่าปกติสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากต่อมหมวกไตส่วนเปลือก ถูกทำลายหรือฝ่อ เนื่องมาจากปฏิกิริยาภูมิต้านตนเอง อาจพบร่วมกับต่อมไทรอยด์อักเสบ ภาวะขาดพาราไทรอยด์ เบาหวาน ผมร่วงเป็นหย่อมไม่ทราบสาเหตุ เป็นต้น

                ส่วนน้อยอาจเกิดจากเป็นวัณโรคของต่อมหมวกไต หรือมะเร็งที่แพร่กระจายมาจากที่อื่น (เช่น ปอด เต้านม) โรคติดเชื้อราของต่อมหมวกไต (ในผู้ป่วยเอดส์) หรือ อาจเกิดจากยา (เช่น คีโตโคนาโซล ไรแฟมพิซิน) เป็นต้น

อาการ โรคแอดดิสัน

มักจะค่อย ๆ เกิดขึ้นช้า ๆ ด้วยอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด (ผอมลง) อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย อาจมีอาการท้องเดินบ่อย ท้องอืดเฟ้อ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ในผู้หญิงอาจมีอาการขาดประจำเดือน 

  • บางรายผิวหนังอาจมีรอยด่างขาวร่วมด้วย
  • ผู้ป่วยมักมีความดันต่ำ ทำให้มีอาการหน้ามืด วิงเวียนเวลาลุกขึ้นเร็ว ๆ 
  • ผู้ป่วยอาจมีอารมณ์อ่อนไหว ซึมเศร้า หรือมีอาหารของโรคจิต

การป้องกัน โรคแอดดิสัน

  1.  ผู้ป่วยควรกินอาหารให้เค็มจัด เพราะต้องการเกลือโซเดียมมากขึ้น และควรกินอาหารพวกโปรตีนและ คาร์โบไฮเดรต (แป้งและน้ำตาล) ให้มาก ๆ ควรกินบ่อยมื้อกว่าปกติ
  2. โรคนี้มีทางรักษาให้มีชีวิตยืนยาวเช่นคนปกติ แต่ต้องกินยาทุกวัน อย่าได้ขาด
  3. ถ้าผู้ป่วยเป็นโรคติดเชื้อ ตั้งครรภ์ หรือมีอาการไม่สบายอื่น ๆ อาจทำให้อาการกำเริบมากขึ้น ควรรีบไป พบแพทย์ อาจต้องเพิ่มขนาดของยาไฮโดรคอร์ติโซน เพื่อป้องกันการเกิดภาวะต่อมหมวกไตวายเฉียบพลัน
  4.  ผู้ป่วยควรพกสมุดหรือบัตรติดตัวเป็นประจำ เขียนบอกถึงโรคที่เป็น และยาที่ใช้รักษา หากเกิดภาวะต่อมหมวกไตวายเฉียบพลันในเวลาใดเวลาหนึ่ง ผู้พบเห็นและแพทย์จะได้ให้ความช่วยเหลือได้ถูกต้อง โดยให้น้ำเกลือและฉีดไฮโดรคอร์ติโซน ขนาด 100 มก. เข้า ทางหลอดเลือดดำทันที

การรักษา โรคแอดดิสัน

                หากสงสัย ควรส่งโรงพยาบาล มักจะวินิจฉัยโดย การตรวจเลือด (พบระดับคอร์ติซอลซึ่งเป็นฮอร์โมนสตีรอยด์ต่ำระดับโซเดียมในเลือดต่ำ  ระดับโพแทสเซียมในเลือดสูง ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ เอกซเรย์ปอด (เพื่อตรวจดูการติดเชื้อวัณโรค หรือเชื้อรา หรือมะเร็ง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของโรคนี้) ถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (เพื่อดูลักษณะผิดปกติของต่อมหมวกไต) และถ้าจำเป็นอาจต้องตรวจพิเศษอื่น ๆ

การรักษา ให้กินสตีรอยด์ทดแทน ได้แก่ ไฮโดรคอร์ติโซน (hydrocortisone) วันละ 30 มก. (20 มก.หลังตื่นนอนตอนเช้า10 มก.ตอน 18.00 น.) หรือเพร็ดนิโชโลน  วันละ 7.5 มก.(5 มก.หลังตื่นนอนตอน เช้า 2.5 มก. ตอน18.00 น.)

                ในรายที่มีภาวะโซเดียมในเลือดต่ำร่วมด้วย ให้กินยาเพิ่มอีกชนิดหนึ่ง ได้แก่ ฟลูโดรคอร์ติโซน (fludrocortisone) ขนาด 0.05-0.4 มก. วันละ 1 ครั้งหรือ วันเว้นวัน

                แพทย์จะนัดผู้ป่วยเพื่อติดตามผลการรักษาโดย  การตรวจเลือดเป็นระยะ และปรับขนาดยาตามความ เหมาะสมในช่วงที่ผู้ป่วยมีการติดเชื้อ ได้รับบาดเจ็บ หรือการผ่าตัด อาจจำเป็นต้องเพิ่มขนาดยาให้สูงขึ้นตามความต้องการของร่างกาย

                นอกจากนี้ ถ้าพบว่ามีสาเหตุของการเกิดโรคนี้ ร้อนเจน เช่น การติดเชื้อวัณโรคหรือเชื้อรา ก็จำเป็นต้องให้ยารักษาโรคเหล่านี้ควบคู่กันไป

[Total: 1 Average: 5]