ภาวะเลือดออกง่าย (ไอทีพี)

ภาวะเลือดออกง่าย (เลือดออกหยุดยาก) อาจมีสาเหตุจากความผิดปกติของหลอดเลือด เกล็ดเลือดหรือระบบการแข็งตัวของเลือด (coagulation system)

ลักษณะเลือดออกที่เกิดขึ้นตามผิวหนัง อาจเป็นจุดแดง ขนาด 1 มม. หรือเท่าปลายเข็มหมุด เรียกว่า  เพเทเคีย  (petechiae) หรือเป็นจ้ำเขียวหรือพรายย้ำขนาด 1-10 มม. หรือเท่าปลายนิ้ว เรียกว่า เอกไคโมซิส (ecchymosis) หรือเป็นก้อนนูน (hematoma)

โดยทั่วไป ถ้ามีสาเหตุจากหลอดเลือดผิดปกติ (เช่นหลอดเลือดเปราะในผู้ป่วยไข้เลือดออก) มักจะเกิดเป็นจุดแดงหรือจ้ำเขียวตื้นๆ 

ถ้าเกิดจากเกล็ดเลือดผิดปกติ (เช่น เกล็ดเลือดต่ำ ในผู้ป่วยไข้เลือดออก โลหิตจางอะพลาสติก มะเร็งเม็ดเลือดขาว เอสแอลอี ไอทีพี) มักเกิดเป็นจุดแดง ซึ่งอาจมีจ้ำเขียวร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้

ถ้าเกิดจากระบบการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ (เช่น ฮีโมฟีเลีย ตับแข็ง ภาวะไตวาย งูพิษกัด) มักเกิดเป็นจ้ำเขียว หรือก้อนนูน โดยไม่มีจุดแดงร่วมด้วย
 
ไอทีพี  (ITP)
ไอทีพี (ITP) ซึ่งย่อมาจาก idiopathic thrombo-cytopenic  purpura) เป็นโรคที่พบได้ไม่น้อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่

สาเหตุ ภาวะเลือดออกง่าย (ไอทีพี)

ผู้ป่วยจะมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำโดยไม่ทราบสาเหตุโดยที่ไขกระดูกสร้างเกล็ดเลือดได้ตามปกติ  แต่ร่างกายมีการสร้างสารภูมิต้านทานต่อเกล็ดเลือด (platelet anti body) ขึ้นมาทำลายเกล็ดเลือดของตัวเอง  จึงทำให้เกล็ดเลือดต่ำ และเลือดออกง่ายในเด็ก อาจเกิดจากหลังติดเชื้อไวรัส

อาการ ภาวะเลือดออกง่าย (ไอทีพี)

ผู้ป่วยจะมีจุดแดงขึ้นตามตัว บางรายอาจมีจ้ำเขียวร่วมด้วย โดยไม่มีอาการอื่นใดนำมาก่อน

  • บางรายอาจมีเลือดออกตามที่ต่างๆร่วมด้วย เช่น มีเลือดกำเดาออก เลือดออกตามไรฟัน ประจำเดือนออกมาก ถ่ายเป็นเลือด เป็นต้นโดยทั่วไปผู้ป่วยจะไม่มีอาการซีด ยกเว้นมีเลือดออกมาก
  • ผู้ป่วยจะไม่มีไข้ ตับม้ามและต่อมน้ำเหลืองไม่โต
  • บางรายอาจมีอาการเรื้อรังเป็นเดือนเป็นปี

การป้องกัน ภาวะเลือดออกง่าย (ไอทีพี)

โรคนี้ส่วนมากมีทางรักษาให้หายขาดได้ ส่วนน้อยอาจเป็นเรื้อรัง หรือมีโรคแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น เลือดออกมาก เลือดออกในสมอง

ถ้าพบผู้ป่วยมีจุดแดงขึ้นตามตัวโดยไม่มีอาการอื่นๆ นำมาก่อน ควรนึกถึงโรคนี้ และควรแนะนำไปพบแพทย์โดยเร็ว

การรักษา ภาวะเลือดออกง่าย (ไอทีพี)

หากสงสัยควรส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว

มักจะวินิจฉัยโดยการตรวจเลือด ซึ่งจะพบว่ามีจำนวนเกล็ดเลือดต่ำกว่าปกติ ถ้าจำเป็นอาจตรวจไขกระดูกซึ่งจะพบว่าปกติ

การรักษา  ให้เพร็ดนิโซโลนขนาด 1-2 มก./กก./วัน  (ผู้ใหญ่วันละ 8 -16 เม็ด) แล้วตรวจเลือดสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ถ้าไม่ได้ผล อาจเพิ่มขนาดของยาถ้าได้ผลจะค่อยๆ ลดขนาดของยาลงจนกระทั้งหยุดยาเมื่อลดยาหรือหยุดยาแล้ว กลับมีอาการใหม่ ก็เริ่มให้ยานี้ใหม่อีก

ผู้ป่วยส่วนมากจะหายได้ภายใน 2-3 เดือน แต่บางรายอาจเป็นนานเกิน 3 เดือน ก็ถือว่าเป็นชนิดเรื้อรังซึ่งอาจต้องรักษาด้วยการตัดม้าม

ผู้ป่วยบางรายที่รักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล อาจต้องพิจารณาให้ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ไซโคลฟอสฟาไมด์ (cyclophosphamide) หรือวินคริทีน (vincristine) เป็นต้น

ในรายที่มีเลือดออกมาก อาจต้องให้เลือด

[Total: 1 Average: 4]