การรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ในกรณีที่หัวใจยังทำงานเป็นปกติ สามารถรักษาให้หายได้ โดยแพทย์จะให้ยาควบคุมการเต้นของหัวใจ ร่วมกับการจี้ด้วยไฟฟ้าผ่านคลื่นเสียงความถี่สูง (Electro Physiologic Study and Radiofrequency Ablation) เป็นการรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะโดยไม่ต้องผ่าตัด ไม่มีแผลจากการผ่าตัด ไม่ต้องใช้ยาสลบและไม่เจ็บตัวขณะที่ทำการรักษา
โดยวิธีการคือ แพทย์จะทำการสวนสายสวนหัวใจ จากบริเวณขาหนีบ หลังจากฉีดยาชาเฉพาะที่ (เช่นเดียวกับการตรวจสวนหัวใจเพื่อดูเส้นเลือดหัวใจโดยการฉีดสี) สายสวนหัวใจชนิดพิเศษดังกล่าวจะมีขั้วโลหะที่ส่วนปลาย จึงสามารถบันทึกกระแสไฟฟ้าในหัวใจ แสดงให้เห็นบนจอ Monitor ซึ่งแพทย์จะขยับสายสวนหัวใจดังกล่าวไปยังตำแหน่งต่างๆ ของหัวใจ เพื่อหาตำแหน่งของวงจรไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติ อาจทำร่วมกับการกระตุ้นหัวใจช่วงสั้นๆ เมื่อพบตำแหน่งแล้ว จะส่งคลื่นเสียงความถี่สูงไปยังตำแหน่งดังกล่าวเป็นระยะเวลา 30 – 60 วินาที คลื่นเสียงความถี่สูงดังกล่าวจะทำให้เกิดความร้อนขึ้นที่ปลายสายสวนหัวใจ ทำให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นจาก 37 องศา เป็น 55 องศา ซึ่งเท่ากับอุณหภูมิของน้ำอุ่น
การรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะโดยวิธีดังกล่าวได้ผล 95% โดยมีผลแทรกซ้อนน้อยกว่า 1% เช่น หัวใจทะลุ ลิ่มเลือดไปอุดเส้นเลือดที่ปอด เกิดลิ่มเลือดบริเวณที่เจาะ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ แต่น้อยและยังไม่เคยเกิดขึ้น และใช้เวลาพักฟื้นในโรงพยาบาลเพียง 1 คืนหลังจากทำเสร็จ หลังจากนั้นก็สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ
ในบางกรณีการเต้นของหัวใจช้ากว่าปกติ โดยผู้ป่วยอาจมีอาการเป็นลม หรือเหนื่อยง่าย สามารถรักษาได้ด้วยการฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจ (Pacemaker) หรือในรายที่หัวใจเต้นผิดจังหวะเร็วอย่างมาก เช่น Ventricular Tachycardia, Ventricular Fibrillation สามารถรักษาได้โดยการฝังเครื่องช็อกหัวใจอัตโนมัติ (AICD : Automatic Implantable Cardioverter Defibrillator)
การเตรียมตัวก่อนทำหัตถการจี้หัวใจ
ก่อนการทำหัตถการจี้หัวใจด้วยไฟฟ้าผ่านคลื่นเสียงความถี่สูง ผู้ป่วยจะต้องงดรับประทานยาต้านการเต้นของหัวใจผิดจังหวะอย่างน้อย 3 วัน หรืออยู่ในดุลยพินิจของแพทย์และให้นำยาที่รับประทานอยู่เป็นประจำมาด้วยในวันทำหัตถการ งดน้ำและอาหารอย่างน้อย 6 ชั่วโมง ในวันทำการรักษาควรนำญาติมาด้วยเพื่อร่วมตัดสินใจในการรักษาของแพทย์ นอกจากนี้ผู้ป่วยจะได้รับการเตรียมผิวหนังบริเวณขาหนีบทั้ง 2 ข้างหรือคอด้านขวาขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่แพทย์จะใส่สายสวน รวมทั้งจะได้รับการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำบางรายจะได้รับการใส่สายสวนปัสสาวะด้วย
การปฏิบัติตัวหลังการทำหัตถการจี้หัวใจ
หลังทำการรักษาเสร็จเรียบร้อยผู้ป่วยจะต้องพักอยู่ที่ห้องพักฟื้น 1 คืนเพื่อรับการติดตามดูคลื่นไฟฟ้าหัวใจและสัญญาณชีพอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อถึงห้องพักต้องนอนราบห้ามงอขาข้างที่ทำอย่างน้อย 4-6 ชั่วโมงเพื่อป้องกันการมีเลือดออกและมีก้อนเลือดได้ผิวหนัง หากมีอาการแน่นหน้าอก เหนื่อยหอบ นอนราบไม่ได้ เวียนศีรษะ มีไข้และรู้สึกอุ่นๆ ขึ้น ๆ หรือพบว่ามีเลือดออกหรือมีก้อนเลือดใต้ผิวหนังบริเวณแผลขาหนีบ ควรแจ้งให้แพทย์พยาบาลหรือเจ้าหน้าที่ทราบทันที วันรุ่งขึ้นถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ แพทย์จะอนุญาตให้กลับบ้านได้
ผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะควรมีการดูแลรักษาตนเอง หลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น สูบบุหรี่. ดื่มเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ ชากาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน พร้อมควบคุมอารมณ์ไม่ให้เครียด ประจำตัว เพราะความเครียดจะทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น รวมทั้งควบคุมภาวะแทรกซ้อนจากโรคเรื้อรังซึ่งเป็นโรคประจำตัว และหากรู้สึกว่ามีอาการหัวใจเต้นเร็วผิดปกติควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจในช่วงที่มีอาการทันที เพื่อจะได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วไม่ส่งผลต่ออันตราย
การจี้รักษาคืออะไร
หลังจากที่ทราบชนิดและจุดกำเนิดคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่เต้นผิดปกติแล้ว ถ้าหากเป็นหัวใจเต้นผิดปกติที่รักษาได้ด้วยการจี้รักษา แพทย์จะใส่สายสวนพิเศษเข้าไปในหัวใจและวางในตำแหน่งที่เป็นจุดกำเนิดคลื่นไฟฟ้าที่ผิดปกติ ต่อจากนั้นจะส่งคลื่นวิทยุผ่านทางสายสวนพิเศษเพื่อไปทำลายจุดกำเนิดที่ผิดปกตินั้น สามารถใช้รักษาหัวใจเต้นผิดปกติหลายชนิด เช่น หัวใจเต้นผิดปกติจากความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหรือวงจรไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในหัวใจห้องบนหรือระหว่างห้องบนและล่าง หัวใจห้องบนเต้นพริ้ว และหัวใจห้องล่างเต้นก่อนเวลาอันควรและเร็วกว่าปกติ การรักษาด้วยวิธีนี้อาจใช้ร่วมกับการรักษาวิธีอื่นเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการรักษาสูงสุด โดยทั่วไปใช้เวลาประมาณ 2 – 6 ชั่วโมง
แพทย์จะฉีดยาชาที่บริเวณขาหนีบข้างเดียวหรือสองข้าง เพื่อจะใส่สายสวนพิเศษเข้าทางหลอดเลือดดำไปที่หัวใจ หลังจากที่ได้จัดวางสายสวนพิเศษในตำแหน่งต่าง ๆ ของหัวใจ อุปกรณ์เหล่านี้จะต่อกับระบบคอมพิวเตอร์เพื่อรับและแปลงสัญญาณไฟฟ้าเหล่านี้ แพทย์จะประเมินการนำสัญญาณไฟฟ้าในหัวใจ
แพทย์จะกระตุ้นหัวใจให้เต้นเร็วขึ้นเพื่อชักนำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดปกติเพื่อทำการศึกษาและรักษาต่อไป แพทย์จะใส่สายสวนหัวใจพิเศษไปยังตำแหน่งที่มีคลื่นกระแสไฟฟ้าที่ผิดปกติ และจะส่งคลื่นวิทยุไปทำลายตำแหน่งนั้น ๆ เมื่อหัตถการสำเร็จเสร็จสิ้น แพทย์จะดึงสายสวนออกจากร่างกายผู้ป่วยและจะกดบริเวณที่ถอดสายสวนไว้เพื่อป้องกันไม่ให้เลือดออกเป็นเวลาประมาณ 10 – 15 นาทีกรณีที่เป็นหลอดเลือดดำ และนานประมาณ 30 นาทีกรณีที่เป็นหลอดเลือดแดง