โรคไทรอยด์เป็นพิษ

ไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroidism, Overactive Thyroid) คือภาวะที่ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนออกมามากเกินไป ทำให้ระบบเผาผลาญทำงานมากขึ้น เป็นสาเหตุทำให้น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็วแบบผิดปกติ หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดปกติ เหงื่อออกง่าย และหงุดหงิด ฉุนเฉียว เป็นต้น ซึ่งโรคไทรอยด์อาจแบ่งได้เป็น 2 อย่างใหญ่ ดังนี้

  • ภาวะไทรอยด์เกิน (ไฮเปอร์ไทรอยด์) คือ โรคไทรอยด์ที่มีระดับการทำงานของต่อมไทรอยด์มากเกินไป ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือดสูงเกินไป มีการทำงานของเซลล์ในร่างกายเร็วกว่าปกติ อาการที่ส่งผลต่อร่างกายก็คือ น้ำหนักลดลงผิดปกติ ขี้ร้อน เหงื่อออกมาก เหนื่อย มีประจำเดือนน้อยลง ความจำไม่ดี กระสับกระส่าย ขาดสมาธิ ผมร่วง หัวใจเต้นผิดจังหวะ ท้องเสีย ผิวเป็นด่างขาว มือสั่น แขนขาไม่มีแรง ตาโปน ต่อมไทรอยด์โต เป็นปื้นหนาที่ขา
  • ภาวะขาดไทรอยด์ (ไฮโปไทรอยด์) คือ โรคไทรอยด์ที่มีระดับการทำงานของต่อมไทรอยด์ที่น้อยเกินไป ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือดต่ำเกินไป มีการทำงานของเซลล์ในร่างกายช้ากว่าปกติ อาการที่ส่งผลต่อร่างกายคือ น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขี้หนาว ง่วงนอน อ่อนเพลีย ผมร่วง ผิวแห้ง ซึมเศร้า เป็นตะคริวง่าย หัวใจเต้นช้า ท้องผูก รอบตาบวม หน้าบวม ตัวบวม ต่อมไทรอยด์โต

สาเหตุ ไทรอยด์เป็นพิษ

 ไทรอยด์เป็นพิษ สาเหตุเกิดจากปฏิกิริยาร่างกายของเราเอง ที่กระตุ้นต่อมไทรอยด์ให้มีการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนมากเกินความจำเป็นของร่างกาย  เมื่อฮอร์โมนไทรอยด์มีมากเกินความจำเป็น ก็จะส่งผลให้มีอาการในอวัยวะต่าง ๆ ได้หลาย ๆ อย่าง เราเรียกภาวะที่ต่อมไทรอย์ทำงานมากผิดปกตินี้ว่า ไทรอยด์เป็นพิษ

อาการ ไทรอยด์เป็นพิษ

1) อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ใจสั่น

ผู้ป่วยที่มีภาวะไทรอยด์เป็นพิษจะส่งผลกระทบไปถึงการทำงานของหัวใจทำให้รู้สึกเหนื่อยง่าย ใจสั่น หรืออ่อนเพลีย ไม่กระฉับกระเฉงในภาวะไทรอยด์ทำงานต่ำ

2) ผมร่วง

ภาวะไทรอยด์เป็นพิษหรือไทรอยด์ทำงานต่ำสามารถเกิดผมร่วงได้

3) นอนไม่หลับ

อาการนอนไม่หลับมาคุกคามบ่อย ๆ ทั้งที่ปกติเป็นคนที่นอนหลับง่ายและหลับได้สนิทโดยตลอด เนื่องจากหากไทรอยด์ผิดปกติอาจหลั่งฮอร์โมนมามากเกินไปจนกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางและรบกวนการพักผ่อนได้

4) รู้สึกง่วงตลอดเวลา

เกิดได้ในภาวะไทรอยด์ทำงานต่ำจะเกิดอาการอ่อนเพลียไม่สดชื่นร่วมด้วย

5) อ้วนขึ้นหรือผอมลงอย่างผิดปกติ

ต่อมไทรอยด์ผิดปกติในลักษณะหลั่งฮอร์โมนออกมามากจะกระตุ้นระบบเมตาบอลิซึมให้ขยันเกินไปในภาวะไทรอยด์เป็นพิษจะพบว่าน้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว ส่วนในไทรอยด์ทำงานต่ำจะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นง่าย เนื่องจากการเผาผลาญที่ต่ำลง

6) หิวบ่อยหรือไม่หิวกินไม่ค่อยลง

หากต่อมไทรอยด์ทำงานมากขึ้นอาจทำให้เกิดความรู้สึกหิวบ่อยขึ้น ทานมากขึ้น แต่น้ำหนักตัวลดลง หากไทรอยด์ทำงานน้อยลงอาจกินไม่ค่อยลง บวม อ้วนง่าย

7) ขับถ่ายไม่เป็นปกติ

เข้าห้องน้ำน้อยกว่าปกติหรือท้องผูกบ่อย ๆ แม้จะกินพวกผัก ผลไม้ เกิดจากร่างกายมีภาวะขาดไทรอยด์ได้ ในภาวะไทรอยด์เป็นพิษจะมีการทำงานของลำไส้มากขึ้น ทำให้ถ่ายอุจจาระบ่อยขึ้นกว่าปกติ ส่วนในไทรอยด์ต่ำอาจพบอาการท้องผูก

8) รู้สึกหนาวตลอดเวลาหรือขี้ร้อนมากขึ้น

ต่อมไทรอยด์ไม่หลั่งฮอร์โมนออกมาในปริมาณเพียงพอ ทำให้ระบบเผาผลาญทำงานช้าลง ความร้อนในร่างกายก็จะลดน้อยลง ภาวะไทรอยด์เป็นพิษจะมีอาการขี้ร้อน เหงื่อออกมากกว่าปกติ  ส่วนภาวะไทรอยด์ทำงานต่ำจะมีอาการขี้หนาวมากขึ้น

9) ผิวแห้ง

ภาวะไทรอยด์ทำงานต่ำจะมีระบบเผาผลาญทำงานได้ช้าลงส่งผลต่อผิวแห้งมากขึ้นหรือเหงื่อลดน้อยลง

10) ใจสั่น

ภาวะที่ฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินไปจะเร่งกระบวนการการทำงานส่วนต่าง ๆ ของร่างกายทั้งหมดจะทำให้หัวใจเต้นเร็ว

การรักษา ไทรอยด์เป็นพิษ

  1. กินยา ยาที่ใช้ในการรักษาโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษคือยาที่ออกฤทธิ์สกัดกั้นการสังเคราะห์ฮอร์โมนไทรอยด์ (ยาต้านไทรอยด์) ซึ่งจะช่วยให้อาการต่างๆ ที่เกิดจากการเผาผลาญในร่างกายที่สูงเกินไปหายไป เช่น อาการใจสั่น เหนื่อย น้ำหนักลด
  2. กินไอโอดีน-131 เป็นสารกัมมันตรังสีของธาตุไอโอดีนที่ผลิตขึ้นโดยผ่านธาตุไอโอดีนเข้าไปในเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณู เมื่อทิ้งไว้ ไอโอดีน-131 จะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นไอโอดีน-128 ในกระบวนการเปลี่ยนนี้จะปล่อยกัมมันตรังสีที่สามารถทำลายเซลล์ออกมา เมื่อผู้ป่วยกินเข้าไป ต่อมไทรอยด์ที่ถูกทำลายจะมีขนาดเล็กลง และอาการต่อมไทรอยด์เป็นพิษจะค่อยๆ ดีขึ้น
  3. ผ่าตัด การผ่าตัดเป็นวิธีรักษาแบบดั้งเดิม แพทย์จะทำการผ่าตัดเอาต่อมไทรอยด์ที่เป็นพิษออกไปบางส่วนเพื่อทำให้ต่อมไทรอยด์มีขนาดเล็กลง จะได้ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ออกมาน้อยลง วิธีนี้ช่วยให้อาการต่างๆ หายไปอย่างรวดเร็ว
[Total: 0 Average: 0]