ทอนซิลอักเสบ

การอักเสบของคอหอยและทอนซิล  มักทำให้เกิดอาการเจ็บคอเป็นสำคัญ และเกิดจากสาเหตุได้หลากหลาย  ซึ่งมีทั้งกลุ่มโรคติดเชื้อและกลุ่มไม่ติดเชื้อ 

ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะการอักเสบจากโรคติดเชื้อ  ซึ่งเกิดจากไวรัสและแบคทีเรียเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทอนซิลอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียทีมีชื่อว่า  บีตาฮีโมไลติก สเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ (group A betahemolytic Streptococcus) ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงได้


สาเหตุ ทอนซิลอักเสบ

ส่วนใหญ่เกิดจากไวรัสที่ทำให้เกิดไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่  รวมทั้งไวรัสอื่น ๆ อีกหลายชนิด บางส่วนเกิดจากเชื้อแบคทีเรียซึ่งมีอยู่หลายชนิด  เชื้อมีอยู่ในน้ำลายและเสมหะของผู้ป่วย ติดต่อโดยการหายใจสูดเอาฝอยละออง เสมหะที่ผู้ป่วยไอหรือจามรด  หรือโดยการสัมผัสมือผู้ป่วย สิ่งของ หรือสิ่งแวดล้อมที่แปดเปื้อนเชื้อแบบเดียวกับไข้หวัด

 
               เชื้อแบคทีเรียที่สำคัญ คือ บีตาฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ ก่อให้เกิดทอนซิลอักเสบชนิดเป็นหนอง (exudative  tonsillitis) ซึ่งพบได้บ่อยในเด็กอายุ 5 - 15 ปี และอาจพบในผู้ใหญ่เป็นครั้งคราว  แต่จะพบได้น้อยในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี โรคนี้อาจติดต่อในกลุ่มคนที่อยู่ร่วมกันอย่างใกล้ชิดเป็นเวลานาน เช่น  ตามโรงเรียนหอพัก  เป็นต้น

ระยะฟักตัว  2 – 7  วัน

อาการ ทอนซิลอักเสบ

กลุ่มที่มีสาเหตุจากไวรัส  จะมีอาการเจ็บคอเล็กน้อยถึงปานกลาง แต่ไม่เจ็บตอนกลืน อาจมีอาการเป็นหวัด น้ำมูกใส ไอ เสียงแหบ มีไข้ ปวดศีรษะเล็กน้อย ตาแดง บางรายอาจมีอาการท้องเดินหรือถ่ายเหลวร่วมด้วย
ผู้ป่วยที่เป็นทอนซิลอักเสบจากบีตาฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ  จะมีอาการไข้สูงเกิดขึ้นฉับพลัน หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร เจ็บคอมากจนกลืนน้ำและอาหารลำบาก อาจมีอาการปวดร้าวไปที่หู บางรายอาจมีอาการปวดท้องหรือ อาเจียนร่วมด้วย  มักจะไม่มีอาการน้ำมูกไหล  ไอ หรือ  ตาแดงแบบการอักเสบจากไวรัส

การป้องกัน ทอนซิลอักเสบ

เมื่อมีคนใกล้ชิดป่วยเป็นคอหอยหรือทอนซิลอักเสบควรปฏิบัติเช่นเดียวกับไข้หวัด  เช่นผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการไอหรือจามรดผู้อื่น  คนที่ยังไม่ป่วยอย่าอยู่ใกล้กับผู้ป่วย อย่าใช้ของใช้ร่วมกับผู้ป่วย และหมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่  เป็นต้น

  1. อาการเจ็บคอ  คอหอยอักเสบ  ส่วนใหญ่มักมีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัส  และโรคไม่ติดเชื้อ  (เช่น โรคภูมิแพ้  การระคายเคือง  โรคน้ำกรดไหลย้อน  เป็นต้น) ซึ่งไม่จำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะ  ดังนั้น  ถ้าพบคนที่มีอาการเจ็บคอ  ควรชักถามอาการอย่างละเอียด  และตรวจดูคอหอยทุกรายเพื่อแยกสาเหตุให้ชัดเจน  จะใช้ยาปฏิชีวนะต่อเมื่อมั่นใจว่าเป็นทอนซิลอักเสบจากบีตาฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอเท่านั้น หากไม่มั่นใจก็ควรส่งตรวจพิเศษ (เช่น  การตรวจหาเชื้อด้วยวิธี  rapid  strep  test  การเพาะเชื้อ)
  2. สำหรรับทอนซิลอักเสบจากบีตาฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ  ควรเน้นให้กินยาปฏิชีวนะจนครบตาม  ระยะที่กำหนด (เช่น  เพนิซิลลินวี หรืออะม็อกซีซิลลิน 10 วัน) ถึงแม้หลังให้ยาไป 2-3 วันแล้วอาการเริ่มทุเลาแล้วก็ตาม  หากให้ไม่ครบนอกจากทำให้โรคกำเริบได้บ่อยแล้วยังอาจเกิดโรคแทรกซ้อน  ได้แก่ ไข้รูมาติก และหน่วยไตอักเสบเฉียบพลัน  ซึ่งแม้จะพบได้น้อย  แต่ก็เป็นภาวะที่มีอันตรายร้ายแรงผู้ป่วยควรแยกตัว  อย่าอยู่ใกล้ชิดผู้อื่น  จนกว่าจะให้ยาปฏิชีวนะไปแล้วอย่างน้อย 24 ชั่วโมง  จึงจะไม่แพร่เชื้อให้คนอื่น ในปัจจุบันการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้องมัก ได้ผลดี  โอกาสที่จะต้องรักษาด้วยการผ่าตัดทอนซิลจึง ลดน้อยลงกว่าแต่ก่อนมาก
  3. ถ้าให้ยาปฏิชีวนะรักษาทอนซิลอักเสบdแล้วไม่ดีขึ้น  อาจเกิดจากสาเหตุอื่น  รวมทั้งเมลิออยโดซิส ซึ่งพบบ่อยในคนอีสานที่มีประวัติเป็นโรคเบาหวาน

การรักษา ทอนซิลอักเสบ

  1. แนะนำให้ผู้ป่วยพักผ่อน  ดื่มน้ำมาก ๆ  และใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวเวลามีไข้สูง  ควรให้ผู้ป่วยกินอาหารอ่อน  เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก  น้ำชุบ  นม  น้ำหวาน  ควรกลั้วคอด้วยน้ำเกลือ (ผสมเกลือป่นประมาณ 1 ช้อนชา หรือ 5 มล. ในน้ำอุ่น1 แก้ว) วันละ  2- 3 ครั้ง  ถ้าเจ็บคอมากให้ดื่มน้ำเย็นหรือเครื่องดื่มเย็น ๆ  หรืออมก้อนน้ำแข็ง
  2. ในรายที่เกิดจากไวรัส (ซึ่งจะมีอาการคอหอยและทอนซิลแดงไม่มาก  และมักมีอาหารน้ำมูกใส ไอ  ตา แดง  เสียงแหบ  หรือท้องเสียร่วมด้วย) ให้การรักษาตามอาการ  เช่น  ให้ยาลดไข้พาราเซตามอล  ยาแก้ไอ โดยไม่ต้องให้ยาปฏิชีวนะ  ก็มักจะหายได้เองภาย ใน 1 - 2  สัปดาห์
  3. ในรายที่มั่นใจว่าเกิดจากบีตาฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ (ซึ่งจะมีอาการไข้สูงร่วมกับทอนซิล  บวมแดงจัด  และมีแผ่นหรือจุดหนอง  มีต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณใต้ขากรรไกรหรือข้างคอด้านหน้า และไม่มี อาการน้ำมูกไหล  ไอ  ตาแดง)  นอกจากให้การรักษาตาม  อาการแล้ว  ควรให้ยาปฏิชีวนะ  ได้แก่  เพนิซิลลินวี  หรืออะม็อกซีชิลลิน  ถ้าแพ้ยานี้ให้ใช้อีริโทรไมซิน  แทนให้ยาสัก 3 วันดูก่อน  ถ้าดีขึ้นควรให้ต่อจนครบ 10 วัน เพื่อป้องกันมิให้เกิดไข้รูมาติก  หรือหน่วย  ไตอักเสบแทรกซ้อน

ถ้าอาการไม่ดีขึ้นใน 3 วัน  กินยาไม่ได้  หรือ สงสัยมีโรคแทรกซ้อนรุนแรง หรือเป็น ๆ หาย ๆ  บ่อย ๆ  ให้แนะนำผู้ป่วยไปโรงพยาบาล อาจต้องตรวจเลือด เพาะเชื้อ  เอกซเรย์  เป็นต้น  แล้วให้การรักษาตามสาเหตุหรือ ภาวะที่พบ  เช่น

  • ถ้าผู้ป่วยมีอาการอาเจียน  กินยาไม่ได้  หรือไม่มั่นใจว่าจะกินยาได้ครบ 10 วัน  และไม่มีประวัติการแพ้ยาเพนิซิลลิน แพทย์อาจฉีดเบนซาทีนเพนิซิลลิน (henzathine  penicillin) ขนาด  600,000 ยูนิต  สำหรับ  ผู้ที่มีน้ำหนัก  น้อยกว่า 27 กก. หรือ 1,200,000  ยูนิต  สำหรับ  ผู้ที่มีน้ำหนัก มากกว่า  27 กก. โดยฉีดเข้ากล้ามเพียงครั้งเดียว ในรายที่กินยาได้  อาจให้ยาปฏิชีวนะชนิดกิน  เพียง  5 วัน เช่น โคอะม็อกซิคลาฟ อะซิโทรไมซิน (azithromycin) คลาริโทรไมซิ (clarithromycin) เป็นต้น
  • ถ้าพบว่าเชื้อดื้อยาเพนิซิลลิน อาจเปลี่ยนไปให้ยากลุ่มอื่น เช่น โคอะม็อกซิคลาฟ  เซฟาตรอกซิล (cefadroxil) เป็นต้น
  • ถ้าเป็นฝีทอนซิล อาจต้องผ่าหรือเจาะเอาหนองออก
  • นรายที่เป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง (ปีละมากกว่า 4 ครั้ง) จนเสียงานหรือหยุดเรียนบ่อย  มีอาการหูชั้นกลางอักเสบบ่อย หรือก้อนทอนซิลโตจนอุดกั้นทางเดินหายใจ  อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดทอนซิล (tonsillectomy) 

4.ในรายที่ไม่มั่นใจว่าเกิดจากบีตาฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ  เช่น  มีเพียงแผ่นหรือจุดหนองบนทอนซิล (ซึ่งอาจเกิดจากไวรัสบางชนิดก็ได้)   โดยอาการ อื่น ๆ  ไม่ชัดเจน  อาจต้องส่งตรวจพิเศษเพิ่มเติมในปัจจุบันมีการตรวจเชื้อบีตาฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัส  กลุ่มเอจากบริเวณคอหอยและทอนซิล  ซึ่งสามารถทราบผลภายในไม่กี่นาที  เรียกว่า “rapidstreptest” ถ้าให้บวกก็ให้ยาปฏิชีวนะรักษา แต่ถ้าให้ผลลบอาจต้องทำการเพาะเชื้อ ซึ่งจะทราบผลภายใน 1 - 2 วัน

[Total: 4 Average: 5]