กล้ามเนื้ออ่อนแรง กิลแลง-บาร์เร (Guillain-Barre syndrome: GBS) กลุ่มอาการทางระบบประสาทที่เกิดขึ้นในประเทศไทย พบได้น้อยและไม่ค่อยเป็นที่รู้จักสำหรับคนทั่วไปมากนัก แล้วทำไมทุกคนต้องรู้จัก กลุ่มอาการนี้สำคัญอย่างไร มาติดตามกันค่ะ กลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร (Guillain-Barre syndrome: GBS) หรือ โรคอัมพาตเฉียบพลัน เป็นโรคที่เกิดการอักเสบของระบบประสาทส่วนปลายอย่างเฉียบพลัน
โรค GBS จัดว่าเป็นโรคในกลุ่มภูมิต้านทานทำลายตนเอง (Autoimmune disease) โดยระบบภูมิคุ้มกันไปทำลายเส้นประสาทในส่วนของปลอกประสาท(myelin sheath) ในระบบประสาทส่วนปลาย (peripheral nervous system; PNS) ประกอบด้วย peripheral nerve และ spinal nerve root จากการสำรวจพบว่า ในประชากร 100,000 คน พบผู้ป่วย GBS 0.8-1.9โดยความเสี่ยงของการเป็นโรคจะเพิ่มมากขึ้นตามอายุ อัตราส่วนของผู้ป่วยพบว่า โรค GBS พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง (เพศชาย: เพศหญิง = 3:2)
สาเหตุ กิลแลง-บาร์เร (Guillain-Barre syndrome: GBS)
เชื่อว่าเกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคที่เรีย เช่น Campylobacteria jejuni (C jejun) (พบมากที่สุด 30%) หรือ Cytomegalovius (พบ 10%) หลังจากการติดเชื้อดังกล่าวจะเกิดการเหนี่ยวนำให้ T-cell และ B-cell ทำลายเส้นประสาทในส่วนของปลอกประสาท (myelin sheath) ในระบบประสาทส่วนปลาย (peripheral nervous system; PNS) ส่งผลให้เกิดความผิดปกติของการนำกระแสประสาทของเส้นประสาท (การนำกระแสประสาทช้าลงหรือถูกจำกัด) อาการของโรคมักแสดงหลังผู้ป่วยติดเชื้อ 2-3 สัปดาห์ ซึ่งการดำเนินโรคใช้เวลายาวนานไม่เท่ากัน บางรายใช้เวลาเพียง 12 ชั่วโมง อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงเฉียบพลันก็ลุกลามทั่วทั้งร่างกาย แต่ส่วนมากจะใช้เวลาลุกลามมากที่สุดประมาณ 3 สัปดาห์ จากนั้นอาการจะทรงตัวแล้วค่อยๆฟื้นตัวอย่างช้าๆ ซึ่งอาจใช้เวลามากน้อยไม่เท่ากัน บางรายอาจใช้เวลาเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน หรืออาจเป็นปี จนฟื้นตัวเป็นปกติ แต่จะมีบางรายที่ยังคงมีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงอยู่บ้าง แต่บางรายอาจมีความพิการตลอดชีวิตซึ่งพบได้ประมาณ 10-20% ของผู้ป่วย Guillain-Barre syndrome
อาการ กิลแลง-บาร์เร (Guillain-Barre syndrome: GBS)
กลุ่มอาการ GBS ในระยะแรกมักเริ่มจากมีอาการเหน็บชา ตามส่วนล่างของร่างกาย เช่น หัวแม่เท้า เท้า และขา แล้วค่อย ๆ ลุกลามไปยังแขนและนิ้วมือ จากนั้นจึงเริ่มมีอาการอื่น ๆ ที่อาจสังเกตได้ ดังนี้
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง โดยมักเกิดขึ้นกับอวัยวะส่วนล่างของร่างกาย เช่น บริเวณเท้าหรือขา แล้วลุกลามขึ้นไปยังส่วนบนของร่างกาย
- เคลื่อนไหวกล้ามเนื้อใบหน้าและดวงตาได้ลำบาก ส่งผลให้พูด เคี้ยว และกลืนอาหารลำบากไปด้วย
- เดินลำบาก ท่าเดินไม่มั่นคง มีอาการเซ หรือเดินขึ้นบันไดไม่ได้
- มีอาการปวดตามร่างกายอย่างรุนแรง อาจรู้สึกเจ็บคล้ายเป็นตะคริว และอาจปวดมากขึ้นในช่วงกลางคืน
- ปวดหลังช่วงล่างอย่างรุนแรง
- กลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่อยู่
- หัวใจเต้นเร็ว
- ความดันโลหิตสูงหรือต่ำกว่าปกติ
- หายใจไม่สะดวก
- อัมพาต มักเกิดขึ้นกับร่างกายทั้งซีกซ้ายและซีกขวา
การรักษา กิลแลง-บาร์เร (Guillain-Barre syndrome: GBS)
โดยปกติผู้ป่วย GBS มักแสดงอาการคล้ายคลึงกับผู้ที่มีระบบประสาทเสียหายจากสาเหตุอื่น เช่น โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบหรือภาวะพิษจากโลหะหนัก ทำให้การวินิจฉัยอาการในขั้นแรกนั้นทำได้ค่อนข้างยาก แพทย์จึงต้องสอบถามอาการและประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วยเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้โรค ร่วมกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการวินิจฉัย ดังนี้
1.การเจาะน้ำไขสันหลัง (Spinal Tap หรือ Lmbar Puncture)
2.การตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (Electromyography: EMG)
3.การตรวจการชักนำประสาท (Nerve Conduction Tests)
หลังจากที่ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรค GBS แพทย์จะทำการ admit ผู้ป่วยใน ICU และมักจะให้การรักษาโดยการให้ Mg หรือการทำ plasma exchange การรักษาดังกล่าวอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดผลค้างเคียงต่างๆ ได้ เช่น เป็นไข้ กล้ามเนื้ออ่อนแรง (severe weakness) หรือทำให้การอักเสบของเส้นประสาทเกิดนานขึ้น ซึ่งหลังจากการให้ยา แพทย์มักจะตรวจอาการของผู้ป่วยอย่างสม่ำสมอ หากผู้ป่วยมีอาการของโรคคงที่ แพทย์จะทำการส่งต่อผู้ป่วยให้นักกายภาพบำบัดทำการรักษาต่อไป