โรคโซเกร็น (Sjögren’s Syndrome)

โรคโซเกร็น (Sjogren’s Syndrome) เป็นกลุ่มอาการของโรคที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เกิดภูมิต่อต้านเนื้อเยื่อตนเอง โดยมีลักษณะสำคัญคือ มีการอักเสบเรื้อรังของต่อมน้ำตา และต่อมน้ำลายเป็นหลัก ภาวะนี้ส่วนใหญ่มักพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี โดยมักพบมากในผู้หญิงต่อเพศชาย อัตราส่วน 9-10 ต่อ 1 ในวัยกลางคนหรือสูงอายุ  อย่างไรก็ตามกลุ่มอาการโจเกรนสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกวัย ทั้งนี้จุดมุ่งหมายของการรักษาคือเพื่อบรรเทาอาการที่เกิดขึ้น

สาเหตุ โรคโซเกร็น (Sjögren’s Syndrome)

กลุ่มอาการโจเกรน (Sjögren’s Syndrome) เป็นโรคภูมิต้านทานผิดปกติชนิดหนึ่ง โดยเซลล์และเนื้อเยื่อของร่างกายจะถูกระบบภูมิคุ้มกันทำร้ายโดยไม่ได้ตั้งใจ จากการที่ต่อมผลิตน้ำตาและน้ำลายมักเป็นเป้าหมายแรกของระบบภูมิคุ้มกัน ทั้งนี้ส่วนอื่น ๆ ของร่างกายอาจได้รับความเสียหายได้เช่นกันเช่น ข้อต่อ ผิวหนัง ไทรอยด์ ไต ตับ ปอด และเส้นประสาท

มีปัจจัยเสี่ยงทางพันธุกรรมร่วมกับมีการกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมบางอย่าง เช่น การติดเชื้อไวรัส การขาดฮอร์โมนเพศหญิง (วัยหมดประจำเดือน) ความเครียด ทำให้เกิดภาวะภูมิแพ้ต่อเนื้อเยื่อตนเอง

อาการ โรคโซเกร็น (Sjögren’s Syndrome)

อาการของผู้ป่วยกลุ่มอาการโจเกรนจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล บางรายอาจมีอาการแค่ 1-2 อย่าง แต่ในบางรายอาจมีหลายอาการเกิดขึ้นพร้อมกัน โดยอาการที่มักพบได้บ่อยมีดังนี้

ปากแห้ง เนื่องจากร่างกายไม่สามารถผลิตน้ำลายหรือผลิตได้น้อยลง บางรายอาจรู้สึกลิ้นแห้งคล้ายกับมีชอล์คในปาก กลืนลำบาก เหงือกอักเสบ และมีโอกาสเกิดฟันผุมากกว่าคนทั่วไป เนื่องจากน้ำลายน้อย
ตาแห้ง คันตา ดวงตาระคายเคือง รู้สึกสากในดวงตาหรือรู้สึกเหมือนมีอะไรติดอยู่ในดวงตา โดยอาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นเป็นพัก ๆ ไม่ได้เกิดขึ้นตลอดเวลา แต่อาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อบริเวณรอบดวงตาหรือกระจกตาได้รับความเสียหาย

ขณะเดียวกัน อาจเกิดอาการอื่น ๆ ได้เช่นกัน เช่น ผิว คอ ริมฝีปาก หรือจมูกแห้ง ช่องคลอดแห้งในผู้ป่วยที่เป็นผู้หญิง ต่อมน้ำลายบวมบริเวณลำคอและใบหน้า โดยเฉพาะบริเวณกรามถึงด้านหน้าของใบหู มีอาการกรดไหลย้อน ทำให้รู้สึกแสบบริเวณช่วงอกไปจนถึงท้อง ข้อบวม ปวดบริเวณข้อ หรือมีอาการข้อติดแม้ไม่ได้เป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

นอกจากนี้ อาการที่พบได้น้อยในผู้ป่วยกลุ่มอาการนี้ คือ เกิดการอักเสบบริเวณปอด ตับ และไต รู้สึกเจ็บขณะปัสสาวะ ปัสสาวะบ่อย ปวดปัสสาวะกะทันหัน เหนื่อยง่าย มีอาการเหน็บชาตามอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย

การรักษา โรคโซเกร็น (Sjögren’s Syndrome)

วิธีการและรูปแบบการรักษา Sjögren’s Syndrome จะขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละบุคคล โดยแพทย์จะรักษาตามอาการของผู้ป่วยเป็นหลัก เช่น

  • รักษาหรือบรรเทาอาการด้วยการใช้ยา เช่น ยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์หรือยาเอ็นเสด ยาแก้ปวด เพื่อลดอาการปวดกล้ามเนื้อและข้อ ในบางกรณีอาจต้องใช้ยารักษาโรครูมาตอยด์ เพื่อช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดและลดการบวมของต่อมน้ำลาย
  • รักษาอาการตาแห้งด้วยการใช้ยาหยอดตาในเวลากลางวัน และใช้เจลทาบริเวณเปลือกตาในเวลากลางคืน ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวบริเวณรอบดวงตาในตอนกลางคืน เพราะอาจทำให้ดวงตาระคายเคือง ในกรณีที่มีความรุนแรง แพทย์อาจทำการอุดรูเปิดท่อน้ำตาเพื่อให้ตาชุ่มชื้นและมีน้ำตาหล่อเลี้ยงนานขึ้น
  • บรรเทาอาการปากแห้งด้วยการอมลูกอมหรือเคี้ยวหมากฝรั่งชนิดไม่มีน้ำตาล และจิบน้ำระหว่างวันก็ช่วยบรรเทาอาการปากแห้งได้เช่นกัน หากไม่ได้ผลควรปรึกษาแพทย์ เพื่อให้แพทย์จ่ายยาที่ช่วยเพิ่มการผลิตน้ำลาย 
  • ขอคำปรึกษาจากทันตแพทย์เกี่ยวกับการใช้ผลิตภัณฑ์ฟลูออไรด์เพื่อป้องกันอาการฟันผุ
  • ผู้ป่วยเพศหญิงบางรายอาจมีปัญหาช่องคลอดแห้ง แพทย์อาจแนะนำให้ใช้น้ำมันวิตามินอี ครีมเอสโตรเจน ครีมหรือโลชั่นสำหรับเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวบริเวณช่องคลอด 
  • เข้ารับการผ่าตัดเล็ก เพื่อขจัดการอุดตันของท่อน้ำตา แก้ไขอาการตาแห้ง
  • รักษาอาการอื่น ๆ ในกลุ่มอาการโจเกรน เช่น การใช้เจลปิโตเลียมหรือลิปมันบรรเทาอาการริมฝีปากแห้ง พ่นสเปรย์น้ำเกลือเข้าจมูกเพื่อบรรเทาอาการจมูกแห้ง ใช้โลชั่นทาผิวระหว่างวันหรือหลังอาบน้ำ อาบน้ำอุ่นและปล่อยให้ตัวแห้งเองหลังอาบน้ำเพื่อบรรเทาอาการผิวแห้ง

 ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรดูแลตนเองด้วยการสวมแว่นดำหรือแว่นกันลมขณะออกไปในพื้นที่โล่งเพราะลมและฝุ่นละอองในอากาศอาจเป็นสาเหตุของการระคายเคืองในตา แปรงฟันทุกครั้งหลังมื้ออาหารหรือรับประทานขนมและเข้าพบทันตแพทย์อย่างน้อย 2 ครั้งต่อปี เลิกสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่เป็นกรด อย่างน้ำอัดลมหรือเครื่องดื่มเกลือแร่ เพราะกรดเป็นอันตรายต่อผิวฟัน และหลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟเพราะจะทำให้ปากแห้ง

ที่มาของ โรคโซเกร็น (Sjögren’s Syndrome)

เป็นชื่อที่ได้จากจักษุแพทย์ชาวสวีเดน ชื่อ Henrik Sjögren ผู้ซึ่งศึกษาค้นคว้าความรู้เกี่ยวกับภาวะเยื่อตาขาวอักเสบที่เกิดจากภาวะตาแห้ง (Keratoconjunctivitis sicca) และเป็นผู้ค้นพบสาเหตุและความรู้เกี่ยวกับโรค Sjögren’s syndrome โรคโจเกรนเป็นโรคแพ้ภูมิตนเอง โดยภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติในผู้ป่วยโรคโจเกรนมักจะไปท้าให้เกิดการอักเสบที่ต่อมน้้าลาย และต่อมน้้าตาโดยในระยะแรกจะมีเม็ดโลหิตขาวเข้าไปอยู่ในต่อมน้้าลายหรือต่อมน้้าตา จนต่อมเหล่านี้มีขนาดโตขึ้น การเข้าไปอยู่ของเม็ดโลหิตขาวและภูมิคุ้มกันนี้ท้าให้เกิดการอักเสบของต่อมน้้าลายและต่อมน้้าตา

[Total: 2 Average: 3.5]