ไซนัสอักเสบ

โรค | สาเหตุ | อาการ | การรักษา

ไซนัส (sinus) หมายถึง โพรงอากาศเล็กๆในกะโหลกศีรษะที่อยู่รอบ ๆ จมูก และมีทางเชื่อมมาเปิดที่โพรงจมูกอยู่หลายจุด ในภาวะปกติจะมีการระบายของเมือกที่สร้างขึ้นในโพรงไซนัสลงมาที่รูเปิดในโพรงจมูกเพื่อให้ความชื้นและชะล้างโพรงจมูก แต่ถ้ารูเปิดเหล่านี้ ถูกอุดกั้น เช่น เป็นหวัด (เยื่อบุจมูกและไซนัสอักเสบบวม) จากการติดเชื้อหรือภูมิแพ้  ผนังกั้นจมูกคด หรือมีเนื้องอกในรูจมูก ทำให้เมือกในโพรงไซนัสไม่สามารถระบายออกได้  เมือกเหล่านี้จะหมักหมมกลายเป็นอาหารสำหรับการเจริญเติบโตของเชื้อโรคที่ลุกลามมาจากโพรงจมูกเข้าไปในโพรงไซนัสสูญเสียหน้าที่ในการขับเมือกและมีการสร้างและสะสมของเมือกมากขึ้น กลายเป็นหนองขังอยู่ในโพรงไซนัสเกิดอาการของโรคไซนัสอักเสบ

โรคนี้แบ่งออกเป็นชนิดเฉียบพลัน (มีอาการน้อย กว่า 30 วัน) กึ่งเฉียบพลัน (มีอาการระหว่าง 30 – 90 วัน) และเรื้อรัง (มีอาการมากกว่า 90 วัน)

ไซนัสอักเสบ เป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนทุกวัยซึ่งมักพบเป็นภาวะแทรกซ้อนของไข้หวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กซึ่งมีโอกาสเป็นไข้หวัดได้บ่อยกว่าผู้ใหญ่นอกจากนี้ยังพบเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคหวัดภูมิแพ้ เยื่อจมูกอักเสบ ติ่งเนื้อเมือกจมูก ผนังกั้นจมูกคด ฝีในฟัน เป็นต้น

ผู้ป่วยอาจมีประวัติโรคภูมิแพ้ (เช่น หวัดภูมิแพ้ โรคหืด ผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้)ในครอบครัว

อาการไซนัสอักเสบ

ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน ในผู้ใหญ่มักมีอาการปวดใบหน้าบริเวณไซนัสที่อักเสบ (เช่น ปวดที่บริเวณ หัวตา หน้าผาก โหนกแก้ม รอบๆ  กระบอกตา หรือหลังกระบอกตา บางรายอาจรู้สึกคล้ายปวดฟันตรงซี่บน) อาจปวดเพียงข้างเดียว หรือ 2 ข้างก็ได้  อาการปวดมักเป็นมากเวลาเช้าหรือบ่าย  เวลาก้มศีรษะหรือเปลี่ยนท่า

ผู้ป่วยมักมีอาการคัดแน่นจมูก พูดเสียงขึ้นจมูกมีน้ำมูกเป็นหนองออกข้นเหลืองหรือเขียว หรือมีเสมหะข้นเหลืองหรือเขียวไหลจากด้านหลังจมูกลงในคอ ต้องคอยสูดหรือขากออก

อาจมีอาการปวดศีรษะ มีไข้ อ่อนเพลีย เจ็บคอ ปวดหู ไอ หายใจมีกลิ่นเหม็น ความรู้สึกในการรับรู้กลิ่นหรือรสชาติลดลง

ในเด็ก อาการมักไม่ชัดเจนเท่าผู้ใหญ่  อาจมีอาการเป็นหวัดนานกว่าปกติ กล่าวคือ มีน้ำมูก (ใสหรือข้นเป็นหนองก็ได้) และไอนานกว่า 10 วัน มักจะไอทั้งกลางวันและกลางคืน อาจมีไข้ต่ำๆ และหายใจมีกลิ่นเหม็นร่วมด้วย

เด็กบางรายอาจแสดงอาการเป็นหวัดรุนแรงกว่าปกติ เช่น มีไข้สูงกว่า 39ซ.น้ำมูกข้นเป็นหนอง ปวดที่บริเวณใบหน้า หลังตื่นนองสังเกตเห็นอาการบวมรอบ ๆ ตา

ไซนัสอักเสบเรื้อรัง  มักมีอาการต่อเนื่องทุกวันนานเกิน 90 วัน ในผู้ใหญ่มักมีอาการคัดแน่นจมูก มีเสมหะข้นเหลืองหรือเขียวไหลจากด้านหลังจมูกลงในคอ หายใจมีกลิ่นเหม็น ความรู้สึกในการรับรู้กลิ่นลดลงส่วนใหญ่มักไม่มีไข้และอาการปวดไซนัสแบบที่พบใน ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน

 ในเด็ก มักมีอาการไอ น้ำมูกไหล จาม หายใจมีกลิ่นเหม็น มีโรคติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนต้นหรือหูชั้นกลางอักเสบซ้ำซาก บางรายอาจมีไซนัสอักเสบเฉียบพลันกำเริบมากกว่าปีละ 6 ครั้ง แต่ละครั้งนานกว่า 10 วัน

การรักษา ไซนัสอักเสบ

1. ให้การรักษาตามอาการ เช่น ถ้าปวดหรือมีไข้ให้ยาแก้ปวดลดไข้ ถ้าคัดจมูกมากให้ยาแก้คัดจมูก อาจช่วยลดการบวมของเนื้อเยื่อที่อักเสบ และช่วยระบายหนองออกจากไซนัส

 ส่วนยาแก้แพ้ ไม่ควรให้ อาจทำให้เมือกในโพรงไซนัสเหนียง  ระบายออกได้ไม่ดี ยกเว้นในรายที่มีอาการของภูมิแพ้มาก เช่น จาม น้ำมูกมาก อาจให้เพียง 2-3 วันเพื่อบรรเทาอาการ

ควรแนะนำให้ผู้ป่วยดื่มน้ำมาก ๆ สูดดมไอน้ำอุ่น และล้างจมูกด้วยน้ำเกลือนอร์มัลบ่อย ๆ เพื่อช่วยระบายหนอง

 2. ในรายที่เกิดจากแบคทีเรีย (น้ำมูกหรือเสมหะเป็นหนอง ปวดใบหน้า หายใจมีกลิ่นเหม็น หรือความรู้สึกในการรับรู้กลิ่นลดลง) ควรให้ยาปฏิชีวนะ เช่น อะม็อกซีซิลลิน อีริโทรไมซิน ร็อกซิโทรไมซิน หรือโรไตรม็อกซาโซล ถ้าตอบสนองต่อยอาการจะทุเลาหลังกินยา 48–72 ชั่วโมงในรายที่เป็นเฉียบพลัน ควรให้กินติดต่อกันนาน 10 – 14 วัน ในรายที่เป็นเรื้อรังควรให้นานอย่างน้อย 3 – 4 สัปดาห์ บางรายอาจนานถึง 12 สัปดาห์

ถ้าอาการไม่ดีขึ้นหลังให้ยาปฏิชีวนะ 72 ชั่วโมง กำเริบบ่อยเป็นเรื้อรัง มีภาวะแทรกซ้อน หรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ(เช่น เอดส์)ควรส่งโรงพยาบาลหรือปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ อาจต้องเอกซเรย์ไซนัส ตรวจอัลตราซาวนด์ถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือเอกซเรย์ คอมพิวเตอร์ใช้กล้องส่งตรวจ (endoscopy) ทำการเจาะไซนัส (antral puncture) นำหนองไปตรวจหาชนิดของเชื้อ เป็นต้น

การรักษา  ถ้าพบว่ามีปัญหาเชื้อดื้อต่อยาปฏิชีวนะพื้นฐานดังกล่าว (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในรายที่มีการใช้ยาชนิดเดิมซ้ำหลายครั้ง) ก็จะเปลี่ยนไปใช้ยาปฏิชีวนะกลุ่มใหม่ เช่น โคอะม็อกซิคลาฟ ดอกซีไซคลีน ไซโพรฟล็อกซาซิน  อะซิโทรไมซิน (azithromycin) เซฟูร็อกไซม์ (cefuroxime) เป็นต้น

 ถ้ามีอาการรุนแรงหรือไม่ตอบสนองต่อยา แพทย์อาจทำการเจาะล้างโพรงไซนัส (antral irrigation)

 ในรายที่เป็นเรื้อรัง จำเป็นต้องตรวจหาปัจจัยที่เป็นสาเหตุ และให้การรักษา เช่น โรคหวัดภูมิแพ้ โรคกรดไหลย้อน ติ่งเนื้อเมือกจมูก ผนังกั้นจมูกคด โรคทางทันตกรรม ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ (เช่น เบาหวาน เอดส์) เป็นต้น

 แพทย์จะพิจารณาทำการรักษาด้วยการผ่าตัดในรายที่ไม่ตอบสนอง ต่อยา หรือตรวจพบว่าเกิดจากเชื้อรา (ซึ่งอาจมีอันตรายร้ายแรงในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานหรือเอดส์ เช่น การติดเชื้อรุนแรง ในสมองหรือลูกตา เป็นต้น ส่วนผู้ที่มีภูมิคุ้มกันแข็งแรง เชื้อรามักทำให้มีอาการไซนัสอักแสบเรื้อรัง) หรือมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนทางตาหรือสมอง การผ่าตัดมีหลายวิธีรวมทั้งการผ่าตัดโดยวิธีส่องกล้องเข้าไปในโพรงไซนัส (endoscopic sinus surgery)

ผลการรักษา ในรายที่เป็นเฉียบพลัน หากได้รับการรักษาอย่างถูก้อตงตั้งแต่แรก มักจะได้ผลดี ส่วนในรายที่เป็นเรื้อรัง ผลการรักษาขึ้นกับการได้รับการรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่แรกและการแก้ไขสาเหตุที่พบในรายที่จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด มักจะได้ผลดีในการบรรเทาอาการและป้องกันภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง

การป้องกันไซนัสอักเสบ

  1. ผู้ที่มีอาการเป็นหวัด มีน้ำมูกหรือมีเสมหะในคอมีลักษณะข้นเหลืองหรือเขียว เป็นหวัดต่อเนื่องกันทุกวันนานผิดปกติ (เช่น นานเกิน  10 วัน) หรือเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง ควรปรึกษาแพทย์  อาจเป็นอาการแสดงของโรคไซนัสอักเสบก็ได้
  2. ในรายที่เป็นไซนัสอักเสบเรื้อรัง หรือเป็นๆหายๆ บ่อย ควรแยกออกจากโรคหวัดภูมิแพ้ (ซึ่งจะมีอาการจาม คันคอ คันจมูก น้ำมูกใส  เป็นสำคัญ) และมะเร็งในโพรงไซนัส (ซึ่งจะมีอาการปวดไซนัสอย่างต่อเนื่อง และมักมีเลือดกำเดาไหลร่วมด้วย) นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่เป็นไซนัสอักเสบเรื้อรังมักมีสาเหตุอื่น ๆ ร่วมด้วยดังนั้น จึงควรส่งไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจสาเหตุและให้การรักษาตามสาเหตุ อาจช่วยให้ทุเลาได้
  3. ผู้ที่เป็นไซนัสอักเสบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่เป็นเรื้อรัง ควรปฏิบัติตัวดังนี้
    • ดื่มน้ำมาก ๆ สูดดมไอน้ำอุ่น และล้างจมูกด้วยน้ำเกลือนอร์มัลบ่อย ๆ
    • หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ ควันบุหรี่ และมลพิษทางอากาศ
    • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์  เนื่องจากจะทำให้เยื่อบุจมูก และโพรงไซนัสบวม
    • หลีกเลี่ยงการเดินทางโดยเครื่องบิน ในขณะที่เป็นไข้หวัด หวัดภูมิแพ้  หรือไซนัสอักเสบกำเริบ  ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ให้กินยาแก้คัดจมูก ได้แก่ สูโดเอฟีดรีน ครั้งละ 1-2 เม็ด ก่อนเดินทาง และซ้ำทุก 6 ชั่วโมง ระหว่างเดินทาง (ระยะไกล) เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะอุดกั้นของช่องระบายและรูเปิดไซนัส
    • หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำในสระว่ายน้ำนาน ๆ เนื่องจากคลอรีนในสระว่ายน้ำ อาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุจมูกและโพรง ไซนัสได้
    • เมื่อเป็นไข้หวัด ควรดื่มน้ำมาก ๆ และสั่งน้ำมูกบ่อย ๆโดยสั่งออกทีละข้าง
    • ระวังอย่าให้เป็นไข้หวัด
    • กินยาตามที่แพทย์แนะนำและติดตามรักษากัลป์แพทย์อย่างต่อเนื่อง
    • ไม่ควรรักษากันเองตามแบบพื้นบ้าน เช่น ใช้สารกรดบางอย่างหยอดเข้าจมูก (ทำให้มีน้ำมูกไหลออกมามาก เพราะเกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุจมูก) อาจทำให้เกิดการอักเสบ และจมูกพิการได้

[Total: 1 Average: 5]