เบาจืด

เบาจืด เป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถเก็บรักษา สมดุลของน้ำในร่างกาย ทำให้มีอาการถ่ายปัสสาวะออกบ่อยและมาก และกระหายน้ำมากคล้ายโรคเบาหวาน แต่ปัสสาวะจะมีรสจืด จึงเรียกว่า เบาจืด โรคนี้พบได้น้อยมาก พบได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่

สาเหตุ เบาจืด

                เกิดจากต่อมใต้สมองสร้างฮอร์โมนต้านการขับ ปัสสาวะที่มีชื่อว่า เอดีเอช (ADH ซึ่งย่อมาจาก antidi uretic hormone) หรือมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เวโซเพชสซิน (vasopressin) ได้น้อยกว่าปกติ ฮอร์โมนนี้ มีฤทธิ์ช่วยให้ร่างกายเก็บกักน้ำโดยยับยั้งไม่ให้ไตขับปัสสาวะออกมากกว่าปกติ เมื่อร่างกายขาดโฮอร์โมนนี้ก็จะมีการขับปัสสาวะออกมากกว่าปกติ ทั้งนี้เป็นผลมาจากความผิดปกติในสมอง เช่น การผ่าตัดบริเวณใกล้ต่อมใต้สมองการได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ เนื้องอกในบริเวณใกล้ต่อมใต้สมอง สมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น แต่บางรายก็อาจเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุก็ได้

ผู้ป่วยบางรายที่มีความผิดปกติของไต เช่น กรวยไตอักเสบ ภาวะไตวายเรื้อรัง โรคถุงน้ำในไตชนิดหลายถุง (polycystic kidney) ผลจากการใช้ยาบางชนิด (เช่น ลิเทียม เมทิซิลลิน) เป็นต้น ก็อาจทำให้ไตไม่ตอบสนองต่อฤทธิ์ของฮอร์โมนเอดีเอช (ทั้ง ๆ ที่ต่อมใต้สมองสร้างได้เป็นปกติ) ทำให้มีการขับปัสสาวะออกมาก

อาการ เบาจืด

ผู้ป่วยจะมีอาการปัสสาวะออกบ่อยและมาก กระหายน้ำและดื่มน้ำมาก ชอบดื่มน้ำเย็นมากเป็นพิเศษ ปากมักจะแห้งอยู่เสมอ จะมีอาการอยู่ตลอดเวลาทั้งกลางวัน  และกลางคืน แม้นอนหลับตอนกลางคืนก็มักจะลุกขึ้นมาปัสสาวะวันละเกิน 5 ลิตร (ถ้าเป็นรุนแรงอาจมากถึงวัน ละ 20 ลิตร)  ปัสสาวะมักจะไม่มีกลิ่น ไม่มีสีและรสจืด

ป้องกัน เบาจืด

  1. อาการปัสสาวะบ่อยและกระหายน้ำบ่อย มักมีสาเหตุมากจากโรคเบาหวาน เป็นส่วนใหญ่ ส่วนน้อยมากที่มีสาเหตุจากโรคเบาจืด การแยกโรคทั้ง 2 นี้ในเบื้องต้นสามารถกระทำโดยการตรวจปัสสาวะ ซึ่งจะพบลักษณะจำเพาะของแต่ละโรค กล่าวคือ เบาหวาน จะพบน้ำตาลในปัสสาวะ (ตรวจเลือดจะพบระดับน้ำตาล ในเลือดสูง) ส่วนเบาจืดจะตรวจไม่พบน้ำตาลในปัสสาวะและปัสสาวะจะมีความถ่วงจำเพาะระหว่าง 1.001-1.005 (คนปกติทั่วไปจะมีความถ่วงจำเพาะมากกว่า 1.015)
  2. โรคนี้เมื่อได้รับการรักษา อาการมักจะทุเลาได้ ดีและสามารถดำเนินชีวิตได้เป็นปกติ ส่วนจะต้องรักษานานเพียงใดย่อมขึ้นกับสาเหตุที่พบ บางรายอาจใช้เวลาไม่นานและหายขาดได้ แต่บางรายอาจต้องใช้ยารักษาไปจนตลอดชีวิต

การรักษา เบาจืด

  หากสงสัย ควรส่งโรงพยาบาล

มักจะวินิจฉัยโดยการตรวจปัสสาวะ จะพบว่ามี ความถ่วงจำเพาะต่ำ (<1.010) และอาจต้องทำการตรวจพิเศษ เช่น การทดสอบที่เรียกว่า “Water deprivation test” ในรายที่สงสัยมีสาเหตุเกี่ยวกับสมองอาจต้อง ตรวจสมอง ด้วยการถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์

การรักษา  ถ้าทราบสาเหตุชัดเจน และแก้ไขได้ ก็ให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ

 ส่วนอาการปัสสาวะมาก ก็ให้ดื่มน้ำทดแทนให้เพียงพอในรายที่เป็นไม่รุนแรงอาจไม่จำเป็นต้องให้ยา

แต่ในรายที่เป็นรุนแรง จำเป็นต้องให้ยาลดปริมาณ และจำนวนครั้งของการถ่ายปัสสาวะ อาจใช้ยาชนิดกิน เช่น คลอร์โพรพาไมด์  (chlorpropamide) โคลไฟเบรต (clofibrate) ยาขับปัสสาวะไทอาไซด์ (thiazide diuretic) อินโดเมทาซิน เป็นต้น หรือใช้ยาในกลุ่มฮอร์โมนเอดีเอช (เวโซเพรสซิน) ชนิดฉีดเข้ากล้ามหรือพ่นจมูก ซึ่งต้องใช้เป็นประจำทุกวันตลอดไป จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกระจำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ

[Total: 0 Average: 0]