ปวดเมื่อย

ปวดเมื่อย หรือเมื่อยล้า คือ อาการเหนื่อยล้า รู้สึกอ่อนเพลีย หมดแรง หรือขาดพลังงาน เมื่อเกิดอาการขึ้นแล้วจะทำให้ตัวบุคคลนั้น ๆ สูญเสียสมาธิ ไม่มีแรงกระตุ้น และมีพลังงานในการกระทำสิ่งใด ๆ ลดน้อยลง รวมถึงอาจกระทบต่อสภาพอารมณ์และสุขภาพจิตของบุคคลนั้นได้ด้วย อาการเมื่อยอาจเกิดจากการทำงานหรือกิจกรรมอย่างหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ หรืออาจเป็นอาการที่เกิดจากการเจ็บป่วยด้วยโรคต่าง ๆ ได้ ตั้งแต่โรคที่มีความรุนแรงน้อยไปจนถึงโรคที่ค่อนข้างรุนแรงและเป็นอันตรายต่อชีวิต นอกจากนี้ อาจมีอาการเมื่อยอันเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยา ขาดการออกกำลังกาย หรือรับประทานอาหารที่ไม่ถูกสุขอนามัยได้เช่นกัน

สาเหตุ ปวดเมื่อย

เนื่องจากสาเหตุปวดเมื่อยมีหลายอย่าง การเกิดจะแตกต่างกันไป ถ้าเกิดจาก ความเสื่อมของข้อก็เพราะเสื่อมไปตามกาลเวลา ยิ่งถ้ามีการใช้งานข้อมากกว่าปกติ เช่น แบกของหนัก ทำงานหนักมาก การเกิดโรคกระดูกพรุนจะพบได้จากผู้ป่วยสูงอายุ ที่เป็นหญิง เพราะฮอร์โมนเพศหญิงลดลง ทำให้แคลเซียมละลายออกจากร่างกายมาก กว่าที่เก็บสะสมไว้ แต่ถ้าเกิดจากการยกของหนักๆ ผิดท่า โดยเฉพาะการออกกำลังกายโดยไม่มีการอุ่นเครื่อง (warm up) เสียก่อน ก็ทำให้ปวดมากได้ทันที

อาการปวดเมื่อยเกิดได้จากสาเหตุหลายอย่าง ได้แก่

  1. การปวดเมื่อยที่มีสาเหตุจากกล้ามเนื้อ
    กล้ามเนื้อทำงานมากในบางตำแหน่ง ทำให้เกิดความล้าหรือเกิดอาการหดเกร็งเฉพาะที่ ส่วนใหญ่อาการปวดแบบนี้จะปวด ๆ เมื่อย ๆ ในบริเวณของกล้ามเนื้อที่มีปัญหา มักพบที่ศอกหลังและเอวเป็นส่วนใหญ่ และมักจะเป็นผลมาจากการอยู่ในท่าใดท่าหนึ่ง ที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน ๆ เช่น นั่งก้มหลังมากเกินไป อาจจะเพราะมีความเคยชิน หรือหลังโกงจากกระดูกสันหลังทรุด กล้ามเนื้อหลังบางส่วนมีการหดเกร็งมากกว่าปกติ ทำให้ปวดได้ สาเหตุที่พบบ่อยอีกประเภทหนึ่ง คือ ท่านอนที่ไม่เหมาะสม เช่น ใช้หมอนสูงเกินไป ทำให้คอเอียงไปข้างใดข้างหนึ่งมากกว่าปกติ ที่นอนนิ่มเกินไป พอลงไปนอนที่นอนยุบตัวลง ทำให้กระดูกสันหลังอยู่ในลักษณะโก่งงอเป็นเวลานาน พอตื่นขึ้นมาจะรู้สึกเมื่อย และในทางกลับกันถ้าใช้ที่นอนแข็งเกินไป และนอนหงายเป็นส่วนใหญ่ กระดูกสันหลังส่วนเอวจะมีการแอ่นตัวผิดปกติ เพราะส่วนก้นและสะโพกก้นติดกับพื้น หนุนให้ส่วนเอวแอ่นขึ้นทำให้ปวดหลังได้เช่นกัน การยกของหนักโดยใช้ท่าที่ไม่ถูกต้อง ก็ทำให้เกิดการปวดเจ็บที่กล้ามเนื้อได้ จึงต้องระมัดระวังเกี่ยวกับการยกของเป็นพิเศษ
  2. อาการปวด จากเส้นเอ็น
    พบบ่อยบริเวณที่มีการเคลื่อนไหวข้อมาก ๆ เช่น บริเวณไหล่ ศอก ข้อมือ ส้นเท้า เอ็นร้อยหวาย เกิดจากการอักเสบของเส้นเอ็นในบริเวณนี้ และถ้าไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม อาจจะทำให้เกิดความพิการต่อไป เช่น ไหล่ติด ยกแขนไม่ขึ้น ทำให้ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามที่ควรจะเป็น
  3. อาการปวดจากเส้นประสาทถูกกดทับ
    ทำให้มีอาการปวดแสบ และร้าวไปตาม เส้นประสาทนั้น ๆ ถ้ามีอาการมาก อาจจะทำให้กล้ามเนื้อที่เลี้ยงด้วยเส้นประสาทนั้นอ่อนแรงลง ถ้าเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงขาถูกกด อาจจะทำให้เดินลำบากได้ ตำแหน่งที่พบบ่อยคือที่บริเวณกระดูกคอ เกิดขึ้นจากกระดูกสันหลังบริเวณคอเสื่อม มีแคลเซียมมาเกาะ และกดลงไปที่เส้นประสาทที่ออกจากช่องระหว่างกระดูกคอ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดที่คอ ไหล่ และอาจจะปวด ลงไปที่แขน และมือ ส่วนใหญ่มักจะมีอาการที่คอด้านใดด้านหนึ่ง บางรายถ้าเป็นมากอาจจะเป็นทั้ง 2 ด้านก็ได้ นอกจากที่คอแล้ว บริเวณหลัง เอว ก็เกิดอาการนี้ได้บ่อยเช่นกัน ส่วนมากเกิดจากการยกของหนัก ในท่าที่ไม่ถูกต้อง ทำให้ส่วนของกระดูกสันหลังที่เรียกว่า หมอนรองกระดูก ซึ่งอยู่ระหว่างกระดูกสันหลัง 2 อัน เคลื่อนออกมาจากตำแหน่งเดิม มากดทับเส้นประสาทที่อยู่ใกล้เคียง ผู้ป่วยจะเกิดอาการปวดหลังอย่างมาก และส่วนใหญ่จะเป็นแบบเฉียบพลัน จะมีอาการปวดร้าวไปที่ขาข้างใดข้างหนึ่ง อาการปวดที่รุนแรงจนถึงขั้นต้องนอนพักหลาย ๆ วัน
  4. ปวดข้อ
    ผู้สูงอายุเป็นโรคข้อได้หลายโรค ที่เจอบ่อยได้แก่ข้อเสื่อม ส่วนมากมักพบที่หัวเข่า โดยเฉพาะในรายที่อ้วนมาก หรือในคนที่ทำงานแบกหาม ต้องแบกของน้ำหนักมาก ๆ นาน ๆ ทำให้ข้อเข่าต้องรับน้ำหนักมากกว่าปกติ ผู้ที่ต้องขึ้นลงบันไดบ่อย ๆ หลาย ๆ ครั้ง และขึ้นลงอย่างรุนแรง (วิ่งหรือกระโดดลง) ทำให้กระดูกอ่อนในข้อเข่าเสื่อมมากกว่าปกติ เมื่ออายุมากขึ้นจะเกิดอาการปวดข้อได้ ลักษณะการนั่งของคนไทยที่นิยมนั่งกับพื้น โดยการนั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิหรือนั่งยอง ๆ มีการพับงอของหัวเข่าอย่างมาก เส้นเอ็นและกล้ามเนื้อรอบเข่า มีการยืดผิดปกติ และในช่วงที่มีการงอเข่ามาก ๆ เลือดจะมาเลี้ยงเข่าไม่สะดวก ทำให้หัวเข่าไม่แข็งแรง และเกิดปัญหาในเวลาต่อมาได้ นอกจากนี้ที่บริเวณหัวเข่าแล้ว ข้อเสื่อมบริเวณนิ้วมือก็พบได้ไม่น้อยเช่นกัน จะมีอาการปวดและข้อบวมโตกว่าปกติ ที่ข้อนิ้วมือส่วนปลายเกือบทุกนิ้ว ส่วนมากมักพบในสตรี คิดว่าอาจจะเกี่ยวข้องกับการทำงานที่ใช้มือมากเช่น ซักและบิดผ้า เป็นต้น การปวดข้อที่เกิดจากสาเหตุอื่นได้แก่ จากโรคเก๊าท์ การติดเชื้อในข้อ และโรคข้อชนิดอื่น เช่น รูมาตอยด์ เป็นต้น ผู้ป่วยโรคเก๊าท์ส่วนใหญ่ มักจะเริ่มปวดข้อครั้งแรกในวัยกลางคน มักปวดที่ข้อที่ข้อนิ้วหัวแม่เท้าเป็นส่วนใหญ่ แต่อาจจะปวดที่ข้ออื่น ๆ ก็ได้ อาการปวดมักเริ่มในตอนกลางคืน และปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ จนผู้ป่วยต้องตื่นขึ้นมา ที่ข้อจะมีอาการบวม แดง ร้อนชัดเจน และเจ็บมากเวลามีการเคลื่อนไหวหรือถูกกระทบกระทั่ง สาเหตุเกิดจากกรดยูริกในเลือดไปตกตะกอนที่ข้อ ทำให้เกิดการอักเสบขึ้น ในผู้ป่วยบางรายได้รับการรักษาอาการข้ออักเสบจากเก๊าท์ดีขึ้นแล้ว มักจะคิดว่าหายแล้ว และไม่ได้ติดตามรับการรักษาต่อไป อาจจะกลับมามีอาการปวดข้อได้อีกเป็นระยะ ๆ ส่วนมากจะพบหลังจากการปวดครั้งแรกประมาณ 5-10 ปี ดังนั้นถ้าหากได้รับการวินิจฉัยว่า ปวดข้อจากโรคเก๊าท์ ผู้ป่วยจะต้องดูแลตนเอง ควบคุมอาหารที่อาจจะกระตุ้นให้โรคกำเริบขึ้นอีก แล้วจะต้องพบแพทย์และติดตามการรักษาเป็นระยะ เพื่อควบคุมให้ปริมาณกรดยูริกในเลือดอยู่ในระดับที่เหมาะสม
  5. การปวดเมื่อยจากเส้นเลือด
    ถ้ามีการผิดปกติของเส้นเลือดแดง หรือเส้นเลือดดำก็จะทำให้เกิดอาการปวดได้ แต่ลักษณะการปวดจะแตกต่างกันไป ถ้าเส้นเลือดแดงตีบแคบลง เลือดเดินไปสู่กล้ามเนื้อไม่สะดวก จะทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยที่กล้ามเนื้อนั้น ๆ ได้ การปวดจะเป็นค่อนข้างเร็ว และมักจะมีอาการจนทำให้ผู้ป่วยต้องหยุดการเคลื่อนไหว หรือการใช้งานของกล้ามเนื้อนั้น ๆ เช่น ถ้าเส้นเลือดแดงที่ขาตีบ ถ้าเดินมากกล้ามเนื้อขาต้องการเลือดไปเลี้ยงมากขึ้น แต่เลือดไปไม่ได้ ทำให้กล้ามเนื้อทำงานต่อไปไม่ไหว เกิดอาการเจ็บปวดจนต้องหยุดเดินและนั่งพัก หลังจากหยุดเดินสักพักอาการดีขึ้น ปวดลดลง ก็สามารถจะเดินต่อไปได้อีก

อาการ ปวดเมื่อย

อาการปวดเมื่อยในผู้สูงอายุมีได้หลายสาเหตุ อันแรกคือ โรคข้อเสื่อม ซึ่งเกิด ตามข้อต่างๆ เกิดในคนที่มีอายุมาก ซึ่งจะเป็นเกือบทุกคน และอีกอย่างคือโรค กระดูกผุ มีเนื้อของกระดูกบางลง อันดับที่สามคือโรคหมอนรองกระดูกทับประสาท และอีกประการหนึ่งก็ได้แก่ พวกโรครูมาติสซั่ม นอกจากนั้นก็อาจจะมาจากโรคไตหรือ โรคกระเพาะอาหาร

การรักษา ปวดเมื่อย

โดยทั่วๆ ไปแล้ว ควรพักผ่อน มักก็จะช่วยได้เสมอและการนวดแต่เพียงเบาๆ ได้ผลดี รวมทั้งการทำกายภาพบำบัด จะให้ผลดีเช่นกัน

การป้องกัน ได้แก่ การออกกำลังกายสม่ำเสมอทำให้กระดูและกล้ามเนื้อ แข็งแรง การยกของ การทำงานด้วยท่าทางที่เหมาะสมสำหรับวัยและหลีกเลี่ยงงาน หนักมากๆ

ยาแก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ

 ยาระงับปวด   เป็นยาที่ใช้สำหรับระงับอาการ  โดยไม่ได้เป็นการรักษาที่สาเหตุโดยตรง มีทั้งรูปแบบยาฉีด ยารับประทานและยาใช้ภายนอก จะขอกล่าวถึงเฉพาะรูปแบบยารับประทาน

รูปแบบยารับประทาน แบ่งออกเป็นกลุ่มดังนี้

 A. พาราเซตามอล  (Paracetamol)  ใช้ระงับอาการปวดที่ไม่รุนแรงและมีฤทธิ์ในการลดไข้

                ขนาดยาที่ใช้ในผู้ใหญ่  325-1,000  มก.  ทุก  4 ซม.  เมื่อจำเป็น และขนาดที่ให้สูงสุดไม่ควรเกิน  4  กรัมต่อวัน

 B. ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่ สเตียรอยด์ ( Non-steroidal  anti – inflammatory drugs )

เป็นยาต้านอักเสบที่ได้ผลดีในการรักษาโรคปวดข้อรูมาตอยด์  โรคปวดข้อในคนชรา  (Osteoarthritis)  และอาการปวดข้อเฉียบพลันของโรคเกาต์  อาการปวดกล้ามเนื้อที่เกิดจากการทำงานและเล่นกีฬา ปวดหัว ปวดประจำเดือน ปวดฟัน แบ่งยาเป็นกลุ่มย่อยๆ ได้ดังนี้

                1.  Salicylates  เช่น  aspirin 

                2.  Anthranilic  เช่น  mefenamic  acid   

                3.  Phenylacetic  เช่น  diclofenac  ,  fendofenac 

                4.  Phenylpropionic  เช่น  ibuprofen  ,  naproxen

                5.  Indole  acetic  เช่น  indomethacin  ,  sulindac 

                6.  Pyrozolones  เช่น phenylbutazone  ,  oxyphenbutazone 

                7.  Oxicams  เช่น  piroxicam  , tenoxicam

ยาในกลุ่มที่ 1 – 7 มีผลข้างเคียงต่อทางระบบทางเดินอาหาร  เช่น  ระคายเคืองกระเพาะอาหาร ปวดเสียดท้อง ท้องเสีย เป็นอาการข้างเคียงที่พบได้บ่อยกว่าอาการอื่น จึงควรให้ยานี้พร้อมอาหาร หรือรับประทานหลังอาหารทันที   อาการเวียนศีรษะ  มึนงง  ปวดหัว  และผื่นพบได้บ้าง

                8.  Newer  NSAIDs  เช่น  celecoxib  ,  rofecoxib  ,  nabumetone เป็นยารุ่นใหม่ที่ออกฤทธิ์ต้านการอักเสบโดยตรงและยาออกฤทธิ์ได้นานรับประทานเพียง 1 – 2 ครั้งต่อวัน

มีอาการข้างเคียงที่ทำให้เกิดการระคายทางเดินอาหารน้อยมาก สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยในผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคกระเพาะอาหาร

C.ยาแก้ปวดกลุ่ม Opioid ได้แก่ ยา morphine, pethidine ,codeine , fentanyl , Tramadol ตัวที่มีการใช้บ่อยคือ  Tramadol จัดเป็น weak Opioid  อาการข้างเคียงที่พบ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก กดการหายใจ ติดยา ประสาทหลอน ง่วงนอน ข้อเสียที่สำคัญที่สุดของยากลุ่มนี้คือทำให้เสพติด

D. ยาคลายกล้ามเนื้อที่ใช้รักษาอาการปวดกล้ามเนื้อ เช่น ยากลุ่ม Centrally acting relaxants ได้แก่ยา  Methocarbamol,chorphenesin carbamate,chlorzoxazone,metaxalone,orphenadrine, cyclobenzaprine  ตัวยา orphenadrine ใช้บ่อยที่สุด อาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยาคือ ทำให้ง่วงนอน  ดังนั้นไม่ควรใช้ยาขณะทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ขับรถหรืองานก่อสร้างที่สูงๆ

[Total: 0 Average: 0]