การผ่าตัดมดลูก (hysterectomy) เป็นการผ่าตัดที่กระทำมากที่สุดเป็นอันดับสองรองจากการผ่าตัดคลอด สาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยต้องรับการผ่าตัดมดลูกส่วนใหญ่ (90%) ไม่ใช่มะเร็ง เนื้องอกมดลูก (Myoma uteri) เป็นสาเหตุมากที่สุด รองลงมา ได้แก่ เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) มดลูกหย่อน (prolapsed uterus) เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวผิดปกติ (Endometrial hyperplasia) ติ่งเนื้อในโพรงมดลูก (Endometrial polyps) เซลในเยื่อบุผิวปากมดลูกผิดปกติ (Cervical intraepithelial neoplasia) และมะเร็งของอวัยวะสืบพันธ์สตรี
ประเภท การผ่าตัดมดลูก (Hysterectomy)
ปัจจุบันมีทั้งหมดอยู่ 5 ประเภท ดังนี้
- การผ่าตัดมดลูกและปากมดลูกออกทั้งหมด (Total Hysterectomy) เป็นการผ่าตัดที่นำเอามดลูกและปากมดลูกออกไปทั้งหมด เป็นวิธีการผ่าตัดมดลูกที่ใช้มากที่สุด
- การผ่าตัดเฉพาะส่วนของมดลูก (Subtotal Hysterectomy) คือผ่าตัดนำมดลูกออกไปโดยเหลือส่วนของปากมดลูกไว้เช่นเดิม
- การผ่าตัดเฉพาะก้อนเนื้องอก (Myomectomy) คือเอาออกเฉพาะก้อนเนื้องอก เย็บซ่อมส่วนที่คว้านก้อนเนื้องอกออก คงสภาพมดลูกไว้ตามเดิม
- การผ่าตัดมดลูกปากมดลูกท่อนำไข่และปีกมดลูกออกไปทั้งหมด (Total Hysterectomy with Bilateral Salpingo-Oophorectomy) มักใช้ผ่าตัดกรณีต้องรักษาโรคที่กระจายทั่วทั้งมดลูกและอุ้งเชิงกราน ไม่จำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากการทำงานรังไข่แล้ว
- การผ่าตัดมดลูกแบบถอนราก (Radical Hysterectomy) เป็นการผ่าตัดนำเอามดลูกและเนื้อเยื่อในบริเวณที่ใกล้เคียง ท่อนำไข่ ปีกมดลูก ต่อมน้ำเหลือง เนื้อเยื่อไขมัน รวมถึงเนื้อเยื่อบางส่วนของช่องคลอดออกไปด้วย วิธีนี้มักถูกนำมาใช้เมื่อต้องการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง
วิธี การผ่าตัดมดลูก
- การผ่าตัดมดลูกผ่านกล้องโดยใช้หุ่นยนต์ (Robotic hysterectomy)
- การผ่าตัดมดลูกผ่านกล้องส่องช่องท้อง (Laparoscopic hysterectomy)
- การผ่าตัดมดลูกผ่านแผลเปิดหน้าท้อง (Abdominal hysterectomy)
- การผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอด (Vaginal hysterectomy)
ข้อบ่งชี้ใน การผ่าตัดมดลูก
การผ่าตัดมดลูกจะถูกนำมาใช้ในกรณีที่เกิดความเจ็บปวดเรื้อรังบริเวณอุ้งเชิงกรานที่เป็นผลมาจากการเจ็บป่วยต่อไปนี้
- ภาวะติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน (Pelvic Inflammatory Disease: PID) ซึ่งเป็นการติดเชื้อที่รุนแรงและสร้างความเสียหายให้แก่อวัยวะในระบบสืบพันธุ์ได้ โดยจะผ่าตัดรักษาต่อเมื่อผ่านการรักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล
- ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) สร้างความเจ็บปวดเมื่อมีประจำเดือน
- ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกแทรกเข้าไปฝังตัวในกล้ามเนื้อของผนังมดลูก (Adenomyosis)
- เนื้องอกในมดลูก (Fibroids) เป็นก้อนเนื้อที่เกิดขึ้นและเจริญเติบโตภายในมดลูก ซึ่งอาจทำให้มีประจำเดือนมามากผิดปกติ
- ภาวะอุ้งเชิงกรานหย่อนเนื่องจากมดลูกหย่อนลงมาในช่องคลอด (Uterine Prolapse)
- ภาวะเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก (Abnormal Uterine Bleeding)
- ภาวะเนื้อเยื่อปากมดลูกเจริญเติบโตผิดปกติ (Cervical Dysplasia) ซึ่งเป็นระยะก่อนมะเร็งปากมดลูก
- มะเร็งมดลูก มะเร็งปากมดลูก หรือมะเร็งรังไข่
- การผ่าตัดมดลูกฉุกเฉินหลังการทำคลอดแล้วมีภาวะเลือดออกที่ไม่สามารถควบคุมได้
การเตรียมตัวก่อนเข้ารับ การผ่าตัดมดลูก
ก่อนเข้ารับการผ่าตัด ผู้ป่วยต้องตัดสินใจร่วมกับแพทย์ พูดคุยถึงข้อดีและข้อเสียของการผ่าตัด รวมถึงต้องผ่าตัดต่อเมื่อการผ่าตัดมดลูกเป็นตัวเลือกการรักษาที่ดีและได้ผลต่ออาการป่วยที่มีมากที่สุด โดยผู้ป่วยควรมีการเตรียมการทั้งทางร่างกายและจิตใจก่อนเข้ารับการผ่าตัด เพื่อให้พร้อมสำหรับการผ่าตัดรักษา รวมทั้งเป็นประโยชน์ต่อการพักฟื้นร่างกายในภายหลังด้วย
ขั้นตอนการเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดมดลูก ได้แก่
ระยะก่อนการผ่าตัด
- ก่อนการผ่าตัดตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไป ผู้ป่วยควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการผ่าตัดมดลูก เกี่ยวกับขั้นตอนการผ่าตัด การเตรียมตัว ผลข้างเคียง และวางแผนเพื่อการพักรักษาตัว อย่างการดูแลตนเอง และการลาพักฟื้นหลังการผ่าตัด ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบถึงประวัติทางการแพทย์ที่สำคัญ การใช้ยา การรักษา และการเจ็บป่วยทั้งในอดีตและปัจจุบัน โดยเฉพาะการป่วยที่ค่อนข้างรุนแรงอย่างโรคเบาหวาน ภาวะหยุดหายใจในขณะนอนหลับ หรือความดันโลหิตสูง เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อนและความเสี่ยงจาก การผ่าตัดมดลูก
- ผลกระทบจากการใช้ยาสลบ การใช้ยาสลบก่อนการผ่าตัดจะทำให้ผู้ป่วยนอนหลับไม่รู้สึกตัวตลอดการผ่าตัด โดยยาสลบจะออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท ความทรงจำ และการตอบสนองของร่างกายอย่างน้อย 1 วันหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยจึงไม่ควรขับรถ ดื่มแอลกอฮอล์ หรือทำนิติกรรมใด ๆ หลังผ่าตัด 1-2 วัน การรักษาสุขภาพให้ดีก่อนการผ่าตัดจะช่วยลดผลข้างเคียงและผลกระทบจากการใช้ยาสลบ โดยการใช้ยาสลบอาจกระทบต่อร่างกายจนเกิดความเสียหายได้ แต่มีโอกาสพบได้น้อยมาก คือ ประมาณ 1 ใน 10,000 ราย และมีโอกาสเสียชีวิตเพียง 1 ใน 100,000-200,000 เท่านั้น
- การติดเชื้อ การผ่าตัดมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อบริเวณแผลผ่าตัด และการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่เป็นการติดเชื้อที่ไม่ร้ายแรง และสามารถรักษาได้ด้วยการให้ยาปฏิชีวนะ
- ภาวะมีเลือดออก มีความเสี่ยงที่ผู้ป่วยจะเสียเลือดมากหรือมีภาวะตกเลือดหลังการผ่าตัด ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์ขึ้น ต้องทำการรักษาด้วยการให้เลือดแก่ผู้ป่วย
- ภาวะรังไข่หยุดทำงาน หากผ่าตัดนำมดลูกออกไปแล้วเหลือรังไข่ไว้ดังเดิม รังไข่จะเสื่อมและหยุดทำงาน เนื่องจากขาดเลือดหล่อเลี้ยงระบบที่ถูกส่งผ่านทางมดลูก
- ภาวะวัยทองก่อนเวลา เมื่อผ่าตัดมดลูกและรังไข่ออกไปแล้ว ร่างกายจะไม่มีการตกไข่ และฮอร์โมนเพศหญิงก็จะถูกผลิตน้อยลง นำไปสู่การเกิดภาวะวัยทองก่อนกำหนด ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการอย่างร้อนวูบวาบ มีเหงื่อออกมาก ช่องคลอดแห้ง มีปัญหาในการนอนหลับ อารมณ์แปรปรวน เป็นต้น
- การเกิดลิ่มเลือดอุดตัน ในระหว่างที่พักรักษาตัวหลังการผ่าตัด หากไม่มีการเคลื่อนไหวร่างกายและอวัยวะเท่าที่ควร จะเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มในกระแสเลือด หากลิ่มเลือดไหลไปอุดตันในอวัยวะบริเวณที่สำคัญอย่างปอดอาจทำให้เกิดภาวะที่เป็นอันตรายต่อชีวิตได้ ผู้ป่วยจึงควรเคลื่อนไหวร่างกายอย่างเหมาะสมหลังการผ่าตัด และอาจถูกฉีดยาป้องกันการแข็งตัวของเลือดเพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน
- ท่อไตได้รับความเสียหาย มีโอกาสประมาณ 1% ที่ท่อไตซึ่งเป็นท่อส่งปัสสาวะจะได้รับความเสียหายจากการผ่าตัด โดยหากเกิดเหตุการณ์ขึ้น แพทย์จะทำการรักษาแก้ไขในระหว่างที่ทำการผ่าตัดมดลูก
- กระเพาะปัสสาวะและลำไส้ได้รับความเสียหาย กระเพาะปัสสาวะและลำไส้ ซึ่งเป็นอวัยวะในช่องท้องบริเวณใกล้เคียงกับมดลูก อาจได้รับความเสียหายจากการผ่าตัด ซึ่งมีโอกาสพบได้น้อยมาก แต่หากเกิดขึ้นแล้วอาจส่งผลทำให้ผู้ป่วยต้องปัสสาวะบ่อย ๆ ปัสสาวะไม่ต่อเนื่อง หรืออาจเกิดการติดเชื้อในระบบขับถ่ายได้ โดยแพทย์จะทำการแก้ไขในระหว่างที่ผ่าตัดมดลูก หรือต่อท่อส่งถ่ายปัสสาวะและถุงทวารเทียมโคลอสโตมี (Colostomy) ที่บริเวณหน้าท้องให้ผู้ป่วยขับของเสียออกจากร่างกายอย่างชั่วคราว