สมองพิการ (โรคพิการทางสมอง อัมพาตสมองใหญ่ ก็เรียก) หมายถึง กลุ่มอาการพิการเกี่ยวกับการ เคลื่อนไหวและท่าทางของร่างกายกลุ่มหนึ่งที่เกิดจาก พยาธิสภาพหรือรอยโรคในสมองใหญ่ (cerebrum) ซึ่งควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย
โรคนี้มักเป็นมาแต่กำเนิดหรือตั้งแต่เล็ก มีอาการ แสดงและความรุนแรงต่าง ๆ กันไป ทั้งนี้ขึ้นกับลักษณะรอยโรคที่เกิดขึ้นในสมอง และบางรายอาจมีความผิดปกติอื่น ๆ รวมทั้งความบกพร่องทางเชาวน์ปัญญาร่วมด้วย ความพิการที่เกิดขึ้นจะเป็นอยู่อย่างถาวรและคงที่ ไม่มากขึ้นตามอายุ
คาดว่ามีทารกและเด็กเล็กป่วยเป็นโรคสมองพิการประมาณ 1-3 คนต่อทารก 1,000 คน พบบ่อยในทารกที่คลอดก่อนกำหนดหรือมีน้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่า 1,500 กรัมทารกที่มีมารดาเป็นโรคติดเชื้อหรือโรคเรื้อรังบางชนิดขณะตั้งครรภ์
สาเหตุ สมองพิการ
ส่วนใหญ่เป็นความพิการที่เกิดขึ้นตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์มารดา โดยไม่ทราบสาเหตุชัดเจน
ส่วนน้อยที่ทราบสาเหตุ ซึ่งมีอยู่หลายประการ เช่น
- ระยะก่อนคลอดมารดามีปัจจัยเสี่ยงขณะตั้งครรภ์ เช่น เป็นโรคหัดเยอรมัน หรือติดเชื้อไวรัสบางชนิด เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไทรอยด์ โรคลมชักชนิดรุนแรง หรือโรคขาดอาหารรุนแรง ได้รับบาดเจ็บ หรือดื่มแอลกอฮอล์จัด สูบบุหรี่ หรือได้รับสารกัมมันตรังสี บางกรณีทารกมีพัฒนาการของสมองที่ผิดปกติมาตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติ ทางกรรมพันธุ์ หรือมีภาวะตีบหรืออุดตันของหลอดเลือดสมองของทารก
- ระยะคลอด สมองทารกได้รับบาดเจ็บหรือมีเลือดออกจากการคลอดยาก หรือทารกมีภาวะขาดอากาศหายใจ (มีอาการไม่หายใจและตัวเขียนหลังคลอด)
- ระยะหลังคลอด ที่พบบ่อย คือ ทารกมีภาวะดีซ่านรุนแรงหลังคลอดเพียงไม่กี่วัน ทำให้เกิดภาวะบิลิรูบิรนสะสมในสมอง (kernicterus) ซึ่งมักทำให้เกิดสมองพิการชนิดเคลื่อนไหวผิดปกติ (athetotic cerebral palsy)
- ระยะเด็กเล็ก (อายุ 3-5 ปีแรก) เกิดจากภาวะแทรกซ้อนของโรคติดเชื้อของสมอง เช่น สมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ตะกั่วเป็นพิษ
- โรคขาดอาหารรุนแรง ศีรษะได้รับบาดเจ็บหรือเลือดออกในสมอง ภาวะขาดอากาศหายใจ เช่น สำลักสิ่งแปลกปลอม จมน้ำ
อาการ สมองพิการ
อาการผิดปกติมักเกิดขึ้นตั้งแต่หลังคลอด ซึ่งจะปรากฏอาการตั้งแต่อายุ 6 เดือน และชัดเจนเมื่ออายุ 1-2 ปี (ส่วนเด็กที่มีสมองพิการจากภาวะแทรกซ้อนของ การเจ็บป่วยหรือได้รับอุบัติเหตุในภายหลัง ก็จะมีอาการหลังเกิดเหตุ)
อาการแสดงมีได้หลายลักษณะ โดยแรกเริ่มทารกจะมีพัฒนาการช้า เช่น คลาน นั่ง ยืน เดิน และพูดได้ช้ากว่าปกติต่อมาจะมีความผิดปกติของความตึงของกล้ามเนื้อ อาจแข็งตัวหรืออ่อนตัวกว่าปกติ มีการเคลื่อนไหวและท่าทางผิดปกติ
ประมาณร้อยละ 70 ของผู้ที่เป็นโรคนี้จะเป็นสมองพิการชนิดเกร็ง (spastic cerebral palsy) คือ มีกล้ามเนื้อแข็งตัว ทำให้แขนขาเกร็ง เคลื่อนไหวลำบาก ข้อศอกและข้อเข่างอ ความผิดปกติอาจเป็นเฉพาะที่แขนและขา ซีกหนึ่ง (hemiplegia) หรือขา 2 ข้าง (diplegia) หรือ แขนและขาทั้ง 4 ข้าง (quadriplegia) ชนิดที่พบได้รองลงมา ได้แก่ สมองพิการชนิดเคลื่อนไหวผิดปกติ (athetotic cerebral palsy) คือมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนตัวทั้งร่างกาย และมีการเคลื่อนไหวของใบหน้าและแขนขาอย่างช้า ๆ แบบยึกยือ (ไม่เป็นจังหวะ) หรือกระตุก ซึ่งเกิดขึ้นเองนอกเหนือการควบคุมของผู้ป่วย คล้ายอาการอยู่ไม่สุข ทำให้ไม่สามารถตั้งตัวตรงและหยิบเจ็บสิ่งของ (เช่น แปรงสีฟัน ช้อน) ไม่ได้
ส่วนน้อยจะเป็นสมองพิการชนิดกล้ามกล้ามเนื้อเสียสหการ (ataxic cerebral palsy) คือ กล้ามเนื้อไม่สามารถประสานการทำงาน ทำให้มีอาการมือสั่นเวลาเคลื่อนไหวเดินเซ ผู้ป่วยอาจมีอาการแสดงร่วมกันมากกว่า 1 ชนิด
นอกจากนี้ยังอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น เดินตัวไม่ตรง เดินขาลากหรือเท้าลากข้างหนึ่ง ตัวสั่น น้ำลายไหล กลืนลำบาก ดูด หรือพูดลำบาก พูดไม่ชัด หรือพูดฟังไม่รู้เรื่อง เขียนหนังสือหรือติดกระดุมได้ลำบาก บางรายอามีอาการตาเหล่ สายตาไม่ดี หูตึง เป็นโรคลมชัก สติปัญญาพร่องหรือปัญญาอ่อน
การป้องกัน สมองพิการ
โรคนี้สามารถแสดงอาการได้หลายลักษณะและไม่จำเป็นต้องมีความบกพร่องทางเชาว์ปัญญาร่วมด้วยเสมอ ควรแนะนำให้พ่อแม่ที่มีลูกเกิดใหม่ โดยเฉพาะ อย่างยิ่งการคลอดก่อนกำหนดหรือน้ำหนักตัวน้อย เฝ้าสังเกตพัฒนาการของทารกอย่างใกล้ชิด ถ้าสงสัยมีความผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว หากได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่แรก ก็มักจะช่วยให้เด็กสามารถ ช่วยตังเองได้ หรือสามารถเรียนหนังสือและประกอบ อาชีพได้
เนื่องจากส่วนใหญ่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ จึงหาทางป้องกันได้ค่อนข้างยาก ส่วนที่ทราบสาเหตุแน่ชัด ก็อาจป้องกันได้โดยการปฏิบัติดังนี้
- ก่อนตั้งครรภ์ ควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรงบำรุงอาหารสุขภาพ ควบคุมโรคเรื้อรัง (เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง)ให้ได้ผลควรฉีดวัคซีนป้องกันหัดเยอรมัน
- เมื่อตั้งครรภ์ ควรฝากครรภ์ และดูแลครรภ์ตามคำแนะนำของแพทย์) หลีกเลี่ยงสิ่งอันตราย (เช่น ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่) และคลอดที่สถานพยาบาลที่มีความพร้อม
- เมื่อพบว่าทารกแรกเกิดมีอาการตาเหลือง ควรรีบปรึกษาแพทย์โดยเร็ว
- ทารกและเด็กเล็ก ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคตามตารางกำหนด ควรระวังป้องกันอุบัติเหตุต่าง ๆ และเมื่อมีอาการเจ็บป่วยควรรีบดูแลรักษาอย่างถูกต้อง
การรักษา สมองพิการ
หากสงสัย เช่น ทารกมีพัฒนาการช้า แขนขาเคลื่อนไหวผิดปกติ ควรส่งไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาล
แพทย์มักจะวินิจฉัยจากอาการแสดงและการตรวจร่างกายและพัฒนาการของเด็กเป็นหลัก ในรายที่แยก จากสาเหตุอื่นไม่ได้ชัดเจน อาจต้องทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น ถ่ายภาพสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ตรวจคลื่นสมอง ตรวจหาความผิดปกติทางกรรมพันธุ์และโรคทางเมตาบอลิซึม (metabolic disorders) เป็นต้น
ถ้าเป็นโรคนี้จริง มักจะต้องให้การรักษาทางกาย-ภาพบำบัดและกิจกรรมบำบัด การใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน การฝึกพูดและแก้ไขความผิดปกติเกี่ยวกับสายตาและ การได้ยิน เพื่อให้เด็กสามารถช่วยตัวเองได้มากที่สุด
ส่วนยาที่ให้จะเป็นกลุ่มยาที่ใช้ควบคุมอาการที่พบร่วม เช่น ถ้ามีอาการชักก็ให้การรักษาแบบโรคลมชัก ถ้าแขนขามีอาการเกร็งหรือเคลื่อนไหวผิดปกติ ก็ให้ยาลดอาการ เช่น ไดอะซีแพม ไตรเฮกซีเฟนิดิล (trihexyphenidyl) ซึ่งมีชื่อการค้า เช่น อาร์เทน (Artane) ยากลุ่มเลโวโดฟา (levodopa) เป็นต้น
บางรายแพทย์อาจฉีดสารโบทูลิน (มีชื่อการค้า เช่น Botox) เพื่อลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ หรืออาจต้องผ่าตัดแก้ไขความพิการและภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ
ผลการรักษาขึ้นกับลักษณะอาการและความรุนแรงของโรค ในรายทีเป็นรุนแรงมักมีอายุสั้น
ถ้ามีอาการแขนขาเกร็งทั้ง 4 ข้าง มักมีอาการชักและปัญญาอ่อนร่วมด้วย อาจเดินไม่ได้หรือช่วยเหลือ ตัวเองได้น้อย
ในรายที่มีอาการเกร็งของขา 2 ข้าง หรือแขนขาซีกหนึ่งมักจะมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงน้อยกว่ารายที่มีแขนขาเกร็งทั้ง 4 ข้าง การทำกายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัด และการใช้อุปกรณ์ช่วย มักจะได้ผลดี โดยทั่วไปถ้าเด็กสามารถนั่งได้เมื่ออายุ 2 ปี ผลการรักษาค่อนข้างดี ถ้าพ้นอายุ 4 ปีแล้วยังนั่งไม่ได้ ผู้ป่วยก็มักจะเดินไม่ได้
ในรายที่เป็นไม่มาก และไม่มีความบกพร่องทางเชาว์ปัญญา มักจะสามารถเรียนหนังสือและประกอบ อาชีพได้เช่นคนปกติ บางรายอาจมีความฉลาดและประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานเป็นอย่างดี