ปวดศีรษะคลัสเตอร์

ปวดศีรษะคลัสเตอร์ คือ โรคปวดศีรษะข้างเดียวที่มีอาการปวดรุนแรงมาก  และเป็นๆ หายๆ เป็นช่วงๆ ทำให้ผู้ป่วยทุกข์ทรมาน แต่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนหรือ อันตรายใดๆ เป็นโรคที่พบได้ค่อนข้างน้อย (ในสหรัฐเอเมริกาพบประมาณ 1 – 4 คนในประชากร 1,000 คน) พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 5 เท่า พบบ่อยในช่วงอายุ 20 – 40 ปี มักจะเริ่มปวดครั้งแรกเมื่ออายุประมาณ 25 ปี อาจเป็นตั้งแต่วัยรุ่นหรือตอนอายุ 50 ปี กว่าก็ได้ โรคนี้มักพบในผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่จัด

สาเหตุ ปวดศีรษะคลัสเตอร์

อาการปวดศีรษะเกี่ยวข้องกับการขยายตัวของหลอดเลือด ซึ่งทำให้เกิดแรงกดดันต่อประสาทสมองเส้นที่ 5 (trigeminal nerve)ที่ไปเลี้ยงบริเวณรอบตาและใบหน้า ส่วนสาเหตุการเกิดโรคนี้ยังไม่ทราบเชื่อว่าอาจเกี่ยวกับการทำงานผิดปกติของสมองส่วนไฮโพทาลามัส ชักนำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของหลอด เลือดและเซลล์ประสาทของประสาทสมองเส้นที่ 5 และ ระบบประสาทอัตโนมัติที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะบนใบหน้า 

อาการปวดศีรษะอาจมีสาเหตุกระตุ้นจากการดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ นอนไม่หลับ การใช้ยาไนโตรกลีเชอรีน การสัมผัสสารไฮโดรคาร์บอน (เช่น น้ำมัน เบนซิน สีน้ำมัน เป็นต้น )  

บางรายอาจมีอาการกำเริบตรงฤดูตรงฤดูกาลหรือตรงเดือน (เช่น เดือนตุลาคม) ของทุกปี  

อาการ ปวดศีรษะคลัสเตอร์

อาการปวดศีรษะมักเกิดขึ้นฉับพลัน เริ่มด้วยอาการปวดแสบปวดร้อนที่ข้างจมูกหรือหลังเบ้าตา และจะปวดแรงขึ้นภายในไม่กี่นาที จนรู้สึกปวดรุนแรงจนสุดจะทนได้ ตรงบริเวณรอบและหลังเบ้าตา และใบหน้าซีกหนึ่ง (อาจร้าวไปที่ข้างคอ ท้ายทอย และขึ้นไปตามแนวหลอดเลือดแดงคอ) รู้สึกคล้ายถูกแท่งน้ำแข็งเสียบผ่านเข้าไปในลูกตาหรือเทน้ำกรดผ่านรูหูเข้าไปในศีรษะหรือคล้ายลูกตาถูกดันให้หลุดออกจากเบ้า มักจะปวดตอนกลางคืนหลังเข้านอน จนสะดุ้งตื่น นอนไม่หลับ บางรายอาจปวดตอนกลางวัน ผู้ป่วยจะปวดจนร้องครวญคราง ลุกขึ้นเดินพล่าน  นั่งโยกตัวไปมา หรือศีรษะโขกกำแพง อาการปวดจะเป็นทุกวัน ส่วนใหญ่จะเป็นวันละ 2 - 3 ครั้ง  และตรงเวลาทุกวัน แต่ละครั้งปวดนานประมาณ 15 นาทีถึง 3 ชั่วโมง (เต็มที่ไม่เกิน 4 ชั่วโมง) แล้วจะหายปวดอย่างปลิดทิ้ง เว้นช่วงเป็นชั่วโมงๆ หรือเกือบวัน จึงจะเริ่มปวดครั้งใหม่ จะปวดทุกวันอยู่นาน 2 - 12 สัปดาห์ แล้วหายเป็นปกติ นานเป็นแรมเดือนแรมปีจึงจะกำเริบรอบใหม่  ส่วนใหญ่จะเป็น 1–2 รอบ/ปี  เป็นวงรอบแบบนี้เรื่อยไป ส่วนน้อยอาจปวดทุกวันนานเป็นปี ผู้ป่วยมักจะปวดอยู่ข้างเดิมทุกรอบ ส่วนน้อยที่อาจปวดสลับข้างในรอบใหม่

ขณะที่มีอาการปวดศีรษะข้างเดียว ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการตาแดง น้ำตาไหล หนังตาบวม หนังตาตก รูม่านตาหดเล็ก ซึ่งเป็นที่ตาข้างเดียวกับที่ปวด มีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหลที่รูจมูกข้างเดียวกับที่ปวด ใบหน้าข้างที่ปวดจะออกแดงและข้างที่ไม่ปวดจะไม่มีเหงื่อออก ส่วนน้อยอาจมีอาการคลื่นไส้ กลัวแสง และกลัวเสียงคล้ายไมเกรนร่วมด้วย

การป้องกัน ปวดศีรษะคลัสเตอร์

              1. โรคนี้มีอาการปวดศีรษะข้างเดียวคล้ายไมเกรน ต่างกันที่โรคนี้พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ปวดรุนแรงกว่าแต่ระยะเวลาสั้นกว่าไมเกรน (ปวดไม่เกิน 4 ชั่วโมง) และปวดแบบเว้นระยะเป็นช่วงๆ แต่เป็นทุกวันนานหลายวันหรือเป็นสัปดาห์ (ไมเกรนจะปวดติดต่อกันนานครั้งละ 4 - 72 ชั่วโมง) โรคนี้มักจะไม่มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน กลัวแสง และกลัวเสียง (ซึ่งตรงข้ามกับไมเกรน) แต่จะมีอาการตาแดง น้ำตาไหล หนังตาบวม หนังตาตก รูม่านตาหดเล็ก (ซึ่งไม่พบในไมเกรน)

               2. ในรายที่มีอาการครั้งแรกๆในการวินิจฉัยควรแยกออกจากสาเหตุร้ายแรงทางสมองให้ได้ชัดเจนเสียก่อน เช่น อาจต้องถ่ายภาพสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์

               3. โรคนี้ถึงแม้จะปวดรุนแรงและเรื้อรัง แต่ก็ไม่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากทำให้มีผลต่อจิตใจ (กังวล ซึมเศร้า) คุณภาพชีวิต (อาจเป็นอุปสรรคการทำกิจวัตรประจำวัน การออกสังคม)

               4. ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงสาเหตุกระตุ้น เช่น การอดนอน หรือการงีบหลับช่วงบ่าย การสูบบุหรี่ หรือดื่มแอลกอฮอล์ สารไฮโดรคาร์บอน (น้ำมันเบนซิน สีน้ำมัน) ยาและอาหารที่มีสารไนเทรต เป็นต้น

การรักษา ปวดศีรษะคลัสเตอร์

                หากสงสัยควรส่งโรงพยาบาล แพทย์มักให้วินิจฉัยจากอาการแสดงเป็นหลัก ในรายที่ไม่แน่ใจแพทย์อาจทำการตรวจพิเศษ เช่น ถ่ายภาพสมองด้วยคลื่นแม่เหล็ก ไฟฟ้าหรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อแยกสาเหตุร้ายแรง เช่น เนื้องอกสมอง หลอดเลือดสมองโป่งพอง (aneurysm) เป็นต้น

การรักษา  แพทย์จะให้การรักษาดังนี้

  1. ขณะที่มีอาการปวดกำเริบเฉียบพลัน ให้การรักษาเพื่อบรรเทาปวดโดยให้ออกซิเจนบริสุทธิ์ (100%) ทางจมูกด้วยด้วยอัตรา 6 - 8 ลิตร/นาที ทันทีที่เริ่มปวด จะช่วยให้ทุเลาได้ภายใน 15 นาที หรือฉีดซูมมาทริปแทน 6 มก.เข้าใต้ผิวหนัง หรือไดไฮโดรเออร์โกตามีน 1 - 2 มก. เข้ากล้ามหรือหลอดเลือดดำ
  2. ในรายที่มีอาการปวดทุกวันแพทย์จะให้ยากินป้องกัน สำหรับผู้ป่วยที่เพิ่งเป็นหรือปวดไม่บ่อย แพทย์จะให้ยากินระยะสั้นๆ เช่น เพร็ดนิโซโลน 40-60 มก.วันละครั้งทุกวันนาน 5 วัน หลังจากนั้นค่อยลดยาลงทีละน้อยจนหยุดยาภายใน 2 - 4 สัปดาห์ หรือในรายที่ปวดตอนกลางคืนแพทย์จะให้เออร์โกตามีน 0.5–1 มก.ส่วนทางทวารหนักก่อนนอนหรือให้กินขนาด 2 มก./วัน 
  3. ส่วนในรายที่ต้องให้ยากินป้องกันระยะยาวแพทย์จะให้เวราพามิล (verapamil) 240 - 480 มก./วัน หรือให้ยากลุ่มอื่น เช่น ลิเทียมคาร์บอเนต อะมิทริปไทลีน ฟลูออกซีทีน โพรพราโนลอล ไซโพรเฮปตาดีน ไดวาลโพรเอต (divalproate)โทพิราเมต (topiramate) คาร์บามาซีพีน (carbamazepine) เป็นต้น ซึ่งมักจะต้องใช้ยาร่วมกันอย่างน้อย 2 ชนิดจึงจะได้ผลดี
  4. ในรายที่ปวดเรื้อรังที่เป็นอยู่ข้างเดิมตลอดมาและใช้ยากินไม่ได้ผล แพทย์อาจให้การรักษาด้วยการผ่าตัดทำลายเส้นประสาทที่เป็นต้นเหตุซึ่งมีอยู่หลายวิธี เช่น การใช้ความร้อนจากคลื่นวิทยุ (percutaneous radiofrequency ablation) การผ่าตัดด้วยรังสีแกมมา (gamma-knife radioxurgery) การผ่าตัดฝังรังสีอิเล็กโทรด  กระตุ้นด้วยไฟฟ้าไว้ในสมองส่วนไฮโพทาลามัส (hypothalamus stimulators implantation) เป็นต้น

[Total: 1 Average: 4]