อาหารไม่ย่อย

อาหารไม่ย่อย  หมายถึง อาหารไม่สบายท้องตรงบริเวณยอดอกหรือใต้ลิ้นปี่ ที่เกิดขึ้นระหว่างหรือหลังกินอาหาร โดยมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง  หรือหลายอย่างร่วมกัน เช่น จุกเสียด  แน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ มีลมในท้อง เรอบ่อย แสบท้อง เรอเปรี้ยว คลื่นไส้ หรืออาเจียนเล็กน้อย  เป็นต้น  อาการจะเป็นเฉพาะบริเวณระดับเหนือสะดือ จะไม่มีอาการปวดท้องในส่วนใต้สะดือ และไม่มีความผิดปกติเกี่ยวกับการขับถ่ายร่วมด้วย อาการนี้พบได้เกือบทุกคนทั้งเด็กและผู้ใหญ่  บางรายเป็นครั้งคราว บางรายอาจเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง อาจมี สาเหตุได้หลากหลาย  ตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงโรคที่รุนแรงหรือร้ายแรง  และความผิดปกติ (พยาธิสภาพ) อาจอยู่ทั้งในและนอกกระเพาะลำไส้

สาเหตุ อาหารไม่ย่อย

เนื่องจากอาการ “อาหารไม่ย่อย” เป็นอาการแสดงของโรค มิได้หมายถึงโรคจำเพาะชนิดใดชนิดหนึ่ง จึงอาจมีสาเหตุได้ต่าง ๆ ได้แก่

  1. สาเหตุที่พบบ่อยที่สุด (ประมาณร้อยละ 30–50 ของผู้ป่วยที่มีอาการอาหารไม่ย่อย) ก็คือ อาหารไม่ย่อยชนิดไม่มีแผล (non ulcer dyspepsia) ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุชัดเจน  สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากมีการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารมาก หรืออาจสัมพันธ์กับฮอร์โมน ความเครียดทางจิตใจ หรืออาหาร (เช่น อาหารมัน อาหาร รสจัด อาหารสุกๆ ดิบๆ อาหารย่อยยาก) หรืออาจเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ เป็นต้น
  2. โรคแผลเพ็ปติก กระเพาะอาหารอักเสบ
  3. โรคกรดไหลย้อน 
  4. เกิดจากยา (เช่น แอสไพริน ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ สตีร้อยด์ ยาเม็ดโพแทสเซียมคลอไรด์เตตราไซคลีน อีริโทรไมซิน เฟอร์รัสซัลเฟต ทีโอฟิลลีนเป็นต้น) รวมทั้งแอลกอฮอล์ (เช่น เหล้า เบียร์ ไวน์) ชา กาแฟ  และเครื่องดื่มกาเฟอีน
  5. โรคของตับ ถุงน้ำดี และตับอ่อน เช่น ตับอักเสบ  ตับแข็ง  นิ่วน้ำดี  ถุงน้ำดีอักเสบ ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง 
  6. มะเร็ง เช่น  มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งกระเพาะอาหาร  มะเร็งตับอ่อน มะเร็งตับ เป็นต้น ซึ่งมักพบในคนอายุตั้งแต่ 40 ปี ขึ้นไป
  7. กระเพาะอาหารขับเคลื่อนตัวช้า ทำให้มีอาหารตกค้างในกระเพาะอาหารอยู่นาน เช่น ผู้ป่วยเบาหวานที่ระบบประสาทอัตโนมัติเสื่อม มีแผลหรือเนื้องอกในกระเพาะอาหาร เป็นต้น
  8. อื่น ๆ เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า โรคลำไส้แปรปรวน  เป็นต้น

อาการ อาหารไม่ย่อย

มีอาการปวดหรือไม่สบายท้อง ตรงบริเวณยอดอกหรือใต้ลิ้นปี่ ลักษณะจุกเสียด ท้องอืด ท้องเฟ้อ มีลมในท้อง เรอบ่อย แสบท้อง เรอเปรี้ยว คลื่นไส้หรืออาเจียนเล็กน้อย  อาการอาจมีเพียงอย่างเดียวหรือหลายอย่างร่วมกันโดยเกิดขึ้นระหว่างกินข้าวหรือหลังกินข้าว

บางรายอาจมีประวัติกินยา ดื่มแอลกอฮอล์  ดื่มกาแฟหรือเครื่องดื่มกาเฟอีน หรือมีความเครียด วิตกกังวล นอนไม่หลับ

  • ในรายที่เป็นโรคกรดไหลย้อน  จะมีอาการเรอเปี้ยว หรือแสบลิ้นปี่ขึ้นมาถึงลำคอ  เป็นมากเวลานอนราบ หรือก้มตัว
  • ในผู้ป่วยแผลเพ็ปติก  มักมีอาการแสบท้องเวลาหิวหรือหิวก่อนเวลา  หรือปวดท้องตอนดึก และลุเลาเมื่อกินยาลดกรด ดื่มนม หรือกินอาหาร  มักมีอาการเป็นๆ หายๆ บ่อย
  • ในรายที่เป็นโรคตับ ถุงน้ำดี ตับอ่อน มะเร็งในช่องท้อง ในระยะแรกมีอาการแบบอาหารไม่ย่อย หรือแผลเพ็ปติก แต่ระยะต่อมมามักมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ดีซ่าน หรือถ่ายดำ
  • ในรายที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือด  จะมีอาการจุกแน่นยอดอก  และปวดร้าวขึ้นไปที่คอ ขากรรไกร หัวไหล่พบในคนอายุ 40–50 ปี ขึ้นไป อาจมีประวัติสูบบุหรี่ เป็นโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน หรือภาวะไขมันในเลือดสูง

การป้องกัน อาหารไม่ย่อย

1. ก่อนวินิจฉัยอาการจุกแน่นตรงลิ้นปี่ว่า เป็นเพียงอาหารไม่ย่อยชนิดไม่มีแผลงหรือแผลเพ็ปติก หรือโรคกระเพาะอาหาร  ควรซักถามอาการและตรวจดูอาการอย่างละเอียด  เพราะมีโรคหลายอย่างที่อาจมีอาการคล้ายกับโรคทั้ง 2 ชนิดนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในคนอายุ 40 ปี ขึ้นไป  อาจเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร  มะเร็งตับหรือมะเร็งในช่องท้องอื่นๆ นิ่วน้ำดี โรคหัวใจขาดเลือด หรือโรคกรดไหลย้อน 

2. ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ป่วย

  • งดบุหรี่  งดดื่มแอลกอฮอล์  ชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มกาเฟอีน ซ็อกโกเลต น้ำอัดลม  และเหลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพริน ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์  ยาสตีรอยด์  ยาแอนติสปาสโมดิก ทีโอฟิลลีน  เป็นต้น
  • กินอาหารให้ตรงเวลาทุกมื้อ อย่ากินอาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด อาหารมัน ของดอง หรืออาหารสุกๆ ดิบ ๆ หรือย่อยยาก ควรกินอาหารเย็นก่อนเวลาเข้านอนอย่างน้อย 3 ชั่วโมงขึ้นไป
  • ควรเคี้ยวอาหารให้ละเอียด อย่ารีบเร่ง อย่ากินจนอิ่มมากเกินไป
  • หลังกินอาหารอิ่มอย่าล้มตัวลงนอน  หรืออยู่น่าท่าก้มงอตัว และอย่ารัดเข็มขัดแน่น
  • ถ้าน้ำหนักมากควรลดน้ำหนัก
  • ถ้าเครียดควรออกกำลังกายเป็นประจำ หรือหาวิธีผ่อนคลายความเครียด เช่น สวดมนต์ ไหว้พระ ทำสมาธิ ภาวนา  ตามหลักศาสนาที่นับถือ หรือดูภาพยนตร์ ฟังเพลง  เล่นดนตรี  ปลูกต้นไม้  ทำงานอดิเรกหาความบันเทิง

การรักษา อาหารไม่ย่อย

1. ถ้ามีลมในท้องหรือเรอ ให้ยมแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ  หรือยาต้านกรดที่มีไซเมทิโคนผสม ในเด็กเล็ก ให้กินไซเมทิโคน ½ – 1 หยด (0.3 - 0.6 มล.) ผสมน้ำ 2 – 4 ออนซ์ - ¼ หรือใช้ทิงเจอร์มหาหิงคุ์ทาหน้าท้อง ถ้าไม่ได้ผล หรือคลื่นไส้ อาเจียนให้เมโทโคลพราไมด์   หรือดอมเพอริโน ก่อนอาหาร 3 มื้อ

                ถ้ามีความเครียด วิตกกังวล หรือนอนไม่หลับให้ไดอะซีแพม

                ถ้าดีขึ้น ให้กินยาประมาณ 2-4 สัปดาห์ แต่ถ้าไม่ดีขึ้นควรส่งโรงพยาบาลเพื่อตรวจหาสาเหตุ

2. ถ้าทีอาการแสบท้องเวลาหิวหรือตอนดึก หรือจุกเสียดแน่นท้องหลังอาหาร  เรอเปรี้ยว หรือมีประวัติกินยาแอสไพริน ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์  หรือดื่มแอลกอฮอล์ ให้ยาต้านกรดร่วมกับยาลดการสร้างกรด เช่น รานิทิดีน ถ้ารู้สึกทุเลาหลังกินยาได้ 2–3 ครั้ง ควรกินต่อจนครบ 2 สัปดาห์ ถ้ารู้สึกหายดีควรกินยานานประมาณ 8 สัปดาห์ เพื่อครอบคลุมโรคแผลเพ็ปติกที่อาจเป็นสาเหตุของอาหาร
ไม่ย่อยได้

ควรส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจพิเศษเพิ่มเติม  ถ้ามีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

  • กินยาต้านกรดและยาลดการสร้างกรด 2 – 3 ครั้งแล้วยังไม่รู้สึกทุเลาแม้แต่น้อย หรือลุเลาแล้วแต่กินยาจนครบ 2 สัปดาห์แล้วรู้สึกไม่หายดี  หรือกำเริบซ้ำหลังจากหยุดกินยาจนครบ 8 สัปดาห์แล้ว
  • มีอาการเบื่ออาหาร  กลืนลำบาก  น้ำหนักลด ซีด ตาเหลือง ตับโต  ม้ามโต  คลำได้ก้อนในท้อง อาเจียนรุนแรง อาเจียนเป็นเลือด  หรือถ่ายดำ
  • สงสัยเป็นโรคหัวใจขาดเลือด  หรือนิ่วน้ำดี
  • พบในผู้ที่มีอายุ 40 ปี ขึ้นไป

การวินิจฉัยอาจต้องทำการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ อัลตราซาวนด์ ตรวจคลื่นหัวใจ เอกซเรย์กระเพาะลำไส้โดยการกลืนแป้งแบเรียม (barium meal/upper GI study) ใช้กล้องตรวจกระเพาะลำไส้ (endoscopy) เป็นต้น แล้วให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ

[Total: 0 Average: 0]