ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ หมายถึง ภาวะที่ผู้ป่วยมีระดับน้ำตาล หรือกลูโคส (glucose) ในเลือดต่ำกว่าปกติ (ระดับน้ำตาล ในเลือดต่ำกว่า 50 มก./ดล.)
ถือเป็นภาวะที่ร้ายแรง หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีก็อาจเป็นอันตรายได้
สาเหตุ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
อาจมีสาเหตุได้หลายอย่าง เช่น
1. พบหลังดื่มแอลกอฮอล์จัด อดข้าว มีไข้สูง หรือ ออกกำลังมากไป
2. ผู้ป่วยเบาหวานที่กำลังได้รับยาเบาหวาน บาง ครั้งกินอาหารน้อยไปหรือกินอาหารผิดเวลา หรือออก แรงกายมากไปกว่าที่เคยทำอยู่ หรือใช้ยาเกินขนาดก็อาจทำให้เกิด ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ได้ ผู้ป่วยที่กินยาเม็ด รักษาเบาหวานในตอนเช้า มักจะมีอาการตอนเช้ามืดของวันรุ่งขึ้น ส่วนผู้ป่วยที่ฉีดอินซูลินตอนเช้า มักจะมีอาการตอนบ่าย ๆ
3. พบในทารกแรกคลอดที่มารดาเป็นเบาหวานหรือทารกมีน้ำหนักน้อย
4. ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ บางรายก็อาจมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเป็นครั้งคราวได้ เนื่องจากร่างกายมีการใช้ น้ำตาลมากขึ้น
5. ผู้ป่วยที่ผ่าตัดกระเพาะอาหารออกไปแล้ว อาจเกิดภาวะนี้ได้บ่อย ๆ โดยมากจะเกิดหลังกินอาหาร 2-4 ชั่วโมง เนื่องจากลำไส้มีการดูดซึมน้ำตาลเร็วเกินไป ซึ่งจะไปกระตุ้นให้ตับอ่อนหลั่งอินซูลินออกมาเป็นจำนวนมาก ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง เรียกว่า “Dumping syndrome”
6. ถ้าเป็นอยู่บ่อย ๆ อาจมีสาเหตุจากเบาหวาน ระยะแรกเริ่ม โรคตับเรื้อรัง มะเร็งตับอ่อนชนิดอินซูลิโนมา (insulionoma) มะเร็งต่าง ๆ โรคแอดดิสัน เป็นต้น
อาการ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย วิงเวียน หน้ามืด ตาลาย ใจหวิว ใจสั่น มือสั่น เหงื่อออก รู้สึกหิว
บางรายอาจมีอาการปวดศีรษะ ซึม กระสับกระส่าย พูดอ้อแอ้ แขนขาอ่อนแรง ปากชา มือชา พูดเพ้อ เอะอะโวยวาย ก้าวร้าว ลืมตัว หรือทำอะไรแปลก ๆ (คล้ายคน เมาเหล้า)
ถ้าเป็นรุนแรง อาจมีอาการชัก หมดสติ
ในรายที่เกิดจาการดื่มแอลกอฮอล์ ผู้ป่วยอาจมีอาการตัวเย็นซีด แขนขาเกร็ง ขากรรไกรแข็ง
การป้องกัน ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
ผู้ป่วยเบาหวานที่ใช้ยาเบาหวานรักษา ต้องปรับ อาหารการกินและการออกกำลังกาย (การใช้แรงกาย)ให้พอเหมาะอย่าอดอาหาร อย่ากินอาหารผิดเวลา อย่าใช้แรงกายหักโหมหรือหนักกว่าที่เคยทำ และข้อสำคัญ อย่าใช้ยาเกินขนาดที่แพทย์สั่ง
1. ผู้ป่วยที่มีอาการที่ชวนสงสัยว่าเป็นภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ถ้ายังรู้สึกตัวดี ควรรีบกินน้ำตาล น้ำหวาน หรือของหวาน ๆ ทันที ซึ่งจะช่วยให้อาการต่าง ๆ ทุเลาลง ทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยเบาหวานที่ได้รับยารักษา เบาหวานอยู่ ควรพกน้ำตาลติดตัวไว้กินทุกครั้งที่เริ่มรู้สึกมีอาการ
แต่ถ้าหมดสติ ห้ามกรอกน้ำตาลหรือน้ำหวาน เข้าปากผู้ป่วย อาจทำให้สำลักลงปอดได้ ควรรีบนำไปยังสถานพยาบาล ที่อยู่ใกล้บ้านที่สุด เพื่อฉีดกลูโคสเข้าหลอดเลือดดำ
2. ผู้ป่วยที่มีภาวะนี้บ่อย ๆ ควรบอกให้ญาติและเพื่อนใกล้ชิดทราบ เพื่อจะได้หาทางแก้ไขได้ทันท่วงที หากปล่อยไว้จนหมดสติหรือชักนาน ๆ อาจทำให้สมองพิการได้
3.ในรายที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำบ่อย ๆ โดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด ควรให้แพทย์ตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด
การรักษา ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
หากสงสัย ให้ฉีดกลูโคสขนาด 50 % จำนวน 50 - 100 มล.เข้าทางหลอดเลือดดำ หากผู้ป่วยฟื้นแล้ว แต่ยังกินไม่ค่อยได้ ควรให้เดกซ์โทรส 5% (5% D/W) เข้าทางหลอดเลือดดำจำนวน 500-1,00 มล.
ถ้าเป็นไปได้ ก่อนฉีดกลูโคส ควรเจาะเลือดตรวจระดับน้ำตาล ซึ่งมักจะพบต่ำกว่า 50 มก./ดล.ในรายที่เป็นมากอาจต่ำกว่า 20 มก./ดล.ถ้าฉีดกลูโคสแล้วไม่ดีขึ้นภายใน 30 นาที ควรส่งโรงพยาบาลด่วน อาจต้องตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ และตรวจพิเศษอื่น ๆ และให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ