คอพอก

คอพอกธรรมดา (Simple goiter/Nontoxic goiter)

                   คอพอก (ต่อมไทรอยด์) หมายถึง ภาวะที่ต่อมไทรอยด์ ตรงบริเวณคอหอยเกิดบวมโตผิดปกติ ทำให้ คอโป่งเป็นลูกออกมาให้เห็นชัดเจน และสามารถคลำได้ เป็นก้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาผู้ป่วยทำท่ากลืนน้ำลาย ก้อนนี้จะขยับขึ้นลงตาม จังหวะการกลืน

 คอพอกอาจมีลักษณะบวมโตแบบกระจาย (dif fuse) หรือเป็นปุ่ม (เป็นปุ่มเดียวหรือหลายปุ่มก็ได้) อาจมีการสร้าง ฮอร์โมนไทรอยด์เป็นปกติเรียกว่า ตอพอกรรมดา (simple goiter หรือnontoxic goiter) ไทรอยด์มากเกินเรียกว่า คอพอกเป็นพิษ หรือ สร้างไทรอยด์น้อยเกินเรียกว่า ภาวะขาดไทรอยด์

ส่วนใหญ่จะเป็นชนิดไม่ร้าย (benign) คือไม่ใช่มะเร็ง  มักพบว่ามีลักษณะบวมโตแบบกระจาย หรือเป็น ปุ่มหลายปุ่ม (multinodule)  เช่น คอพอกที่เกิดจากภาวะขาดไอโอดีน (คอพอกประจำถิ่น) คอพอกเป็นพิษที่มี ชื่อว่า โรคเกรฟส์ ต่อมไทรอยด์อักเสบ เป็นต้น

คอพอกที่มีลักษณะเป็นปุ่มหรือก้อนเดี่ยว (solitary thyroid  nodule) มักเป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้าย เช่น เนื้องอกไทรอยด์ (benign adenoma) ถุงน้ำไทรอยด์ (thyroid cyst) แต่บางรายอาจเป็นมะเร็งไทรรอยด์  ซึ่งอาจำเป็นต้องวินิจฉัยแยกโรคโดยการตรวจชิ้นเนื้อ (fine needle aspiration biopsy)

ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะ คอพอกธรรมดา

สาเหตุ คอพอก

คอพอกธรรมดา  บางรายอาจเกิดขึ้นโดยไม่ทราบ สาเหตุ ที่ทราบสาเหตุ ได้แก่ 

ภาวะขาดธาตุไอโอดีน (ซึ่งมีมากในเกลือทะเลและอาหารทะเล) ภาวะนี้จึงพบมากทางภาคเหนือและภาคอีสานในแถบที่ราบสูงหรือใกล้เขตภูเขา ซึ่งขาดแคลน เกลือทะเลและอาหารทะเล เมื่อร่างกายขาดธาตุไอโอดีน ก็เกิดการขาดฮอร์โมนไทรอยด์ตามมาทำให้ต่อมไทรอยด์ ถูกฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง (ที่คอยกระตุ้นให้ต่อมไท รอยด์ทำงาน) กระตุ้นจนมีขนาดโตขึ้น กลายเป็นคอพอก

                    ในหมู่บ้านบางแห่ง อาจมีผู้ที่เป็นคอพอกเกือบ ทั้งหมู่บ้าน จึงเรียกว่า คอพอกประจำ (endemic goiter)

                    โดยทั่วไปมักถือว่า ในชุมชนใดมีผู้ที่เป็นคอพอกจากการขาดธาตุไอโอดีนเกิน 10 คนใน 100 คน ก็บอกได้ว่า ชุมชนนั้นมีคอพอกประจำถิ่นเกิดขึ้นแล้ว

                     การเปลี่ยนแปลงของร่างกาย  ด้านฮอร์โมนและเมตาบอลิซึม มักพบในผู้หญิงที่เริ่มเข้าสู่วัยรุ่น หรือ กำลังตั้งครรภ์ ซึ่งร่างกายต้องการฮอร์โมนไทรอยด์ (ไทร็อกซีน) มากขึ้น ต่อมไทรอยด์จึงต้องทำงานมากกว่าธรรมดา ทำให้เกิดเป็นคอพอก เรียกว่า คอพอกสรีระ (physiologic goiter)

                     จากผลของยา เช่น พีเอเอส และเอทิโอนาไมด์ (ethionamide) ที่สมัยก่อนเคยใช้ยารักษาวัณโรค เฟนิลบิว-ตาโชน ลิเทียมโพรพิลไทโอยูราซิล อะมิโนกลูเททิไมด์ (aminoglutethmide)
                     ปุ่มไทรอยด์ (thyroid  nodule) อาจเป็นปุ่ม เดียวหรือหลายปุ่ม ส่วนใหญ่จะสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ได้เป็นปกติส่วนน้อยที่สร้างไทรอยด์มากเกิน หรือเป็น คอพอกเป็นพิษ บางรายอาจพบว่าเป็นมะเร็ง

                      ถุงน้ำไทรอยด์ (thyroid cyst) มีลักษณะเป็นถุงหุ้มมีน้ำบรรจุอยู่ภายใน ขนาดอาจเล็กกว่า 1 ซม.หรือโตจนแลดูน่าเกลียด
บางรายอาจพบว่าเป็นมะเร็ง

                      ต่อมไทรอยด์อักเสบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนิดเรื้อรังจากภูมิต้านตนเอง (Hashimoto’s thy roiditis) ที่มีระดับฮอร์โมนไทรอยด์อยู่ในเกณฑ์ปกติ (euthyroid) ก็เป็นสาเหตุหนึ่งของคอพอกธรรมดาได้

อาการ คอพอก

                ผู้ป่วยจะมีอาการคอโต (คอพอก) กว่าปกติ โดยไม่มีอาการผิดปกติอื่น ๆ เช่นไม่อ่อนเลีย ไม่เหนื่อยง่าย น้ำหนักไม่ลด เป็นต้น แต่ถ้าก้อนโตมาก ๆ อาจทำ ให้เสียงแหบ กลืนลำบากหรือหายใจลำบากได้

การป้องกัน คอพอก

  1. สำหรับคอพอกประจำถิ่นที่เกิดจากการขาดธาตุไอโอดีน สามารถป้องกันด้วยการกินอาหารทะเล หรือกินเกลือที่ผสมธาตุไอโอดีนเกิน (เกลืออนามัย)
  2. ในหมู่บ้านที่มีปัญหาคอพอกประจำถิ่น (มีคนที่เป็นคอพอกจากการขาดธาตุไอโอดีนเกิน 10 คนใน 100 คน) ควรมีการรณรงค์ให้ใช้เกลืออนามัยทุกครัวเรือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหญิงที่ตั้งครรภ์ หญิงที่ให้นมบุตร และเด็กเล็ก ๆ เพื่อป้องกันมิให้เด็ก ๆ กลายเป็นเด็ก เครติน
    • ทุกครั้งที่พบผู้ป่วยคอพอก ควรแยกให้ออกว่า เป็นคอพอกธรรมดา หรือคอพอกเป็นพิษ เพราะการรักษาต่างกัน โดยทั่วไป คอพอกธรรมดาจะไม่มีอาการผิดปกติของร่างกาย (ยกเว้นคอโต) ส่วนคอพอกเป็นพิษ จะมีอาการแสดงได้หลายอย่าง
    • ผู้ป่วยที่เป็นคอพอกที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลง ของร่างกาย (ที่พบในหญิงตั้งครรภ์หรือหญิงวัยรุ่น) มักจะไม่มีอันตรายร้ายแรงแต่อย่างใด และจะยุบหายได้เอง จึงไม่ต้องกังวลใจ
    • หากคอพอกลักษณะเป็นปุ่มแข็งควรส่งตรวจพิเศษเพิ่มเติม เนื่องเพราะอาจมีสาเหตุจากมะเร็งไทรอยด์ ก็ได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นปุ่มเดี่ยว

การรักษา คอพอก

                เนื่องจากอาการคอพอก (ต่อมไทรรอยด์โต) อาจมีสาเหตุได้หลายประการจึงควรซักประวัติและตรวจร่างกายให้ละเอียด และควรปรึกษาแพทย์ถ้าพบลักษณะข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้

  • น้ำหนักลด เหนื่อยง่าย ชีพจรเต้นเร็ว
  • น้ำหนักขึ้น อ่อนเพลีย หนังตาบวม ขี้หนาว
  • มีลักษณะก้อนเดียว แข็ง  ติดแน่นกับเนื้อเยื่อโดยรอบ ก้อนโตเร็ว ต่อมน้ำเหลืองที่ข้างคอโต มีประวัติ เคยได้รับการฉายรังสีบริเวณศีรษะและคอมาก่อน มีประวัติมะเร็งไทรอยด์ในครอบครัว  หรือมีประวัติเป็นมะเร็งส่วนอื่น ๆ อยู่ก่อน
  • ก้อนโตมาก มีอาการเสียงแหบ กลืนลำบาก หรือหายใจไม่สะดวก
  • ก้อนไทรอยด์มีอาการเจ็บปวด หรือมีไข้ร่วมด้วย
  • ลองให้การรักษาแบบคอพอกประจำถิ่น (สำหรับผู้ที่อยู่ในถิ่นที่มีคอพอกประจำถิ่น) หรือคอพอกสรีระ (สำหรับผู้ที่เป็นคอพอกในระยะวัยรุ่น หรือตั้งครรภ์) แล้วไม่ดีขึ้น

                   แพทย์จะทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือดทดสอบการทำงานของไทรอยด์ (thyroid  function test) ได้แก่ ฮอร์โมนไทร็อกซีน และฮอร์โมนกระตุ้น ต่อมไทรอยด์ (TSH) ตรวจเลือดหาระดับสารภูมิต้าน ทานต่อไทรอยด์ (thyroid scan) อัลตราซาวนด์ต่อมไทรอยด์  ถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือเอกซเรย์ คอมพิวเตอร์ ใช้เข็มเจาะ (aspiration) ตรวจเซลล์มะ เร็ง ตรวจชิ้นเนื้อ (fine needle aspiration biopsy) เป็นต้น

การรักษา  สำหรับคอพอกธรรมดา (ระดับฮอร์โมน ไทรอยด์ปกติ) แพทย์จะให้การรักษาตามสาเหตุ ดังนี้

                   คอพอกประจำถิ่น (ตรวจพบระดับไอโอดีนใน ปัสสาวะต่ำ) ให้กินเกลือไอโอดีน หรือชนิดน้ำ เช่น Lugol’ssolution)        
เป็นประจำ

                   โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร ควรได้รับการรักษาอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันมิให้ลูกที่เกิดมากลายเป็นเด็กเครตินหรือโรคเอ๋อ

                    ถ้าคอโตมาก ๆ หรือมีอาการหายใจหรือกลืน ลำบาก อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด

                    คอพอกที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ซึ่งพบในสาววัยรุ่นและหญิงตั้งครรภ์ โดยทั่วไปคอ จะโตไม่มาก หรือแทบสังเกตไม่เห็น ก็ไม่ต้องให้การรักษาแต่อย่างใด จะยุบหายได้เอง เมื่อพ้นระยะวัยรุ่น หรือหลังคลอด

                    แต่ถ้าคอโตมาก แพทย์จะให้ฮอร์โมนไทรอยด์ ได้แก่ เลโวไทร็อกซีน (levothyroxine) มีชื่อทางการค้า เช่น เอลทร็อกซีน (Eltroxin) กินวันละครั้ง ครั้งละ 1-2 เม็ด ซึ่งอาจต้องกินนานเป็นปี ๆ ช่วยให้คอยุบได้

                     แต่ถ้าคอโตมาก ๆ อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด

                     ในรายสงสัยว่าเกิดจากยา ควรหยุดยาที่กิน หรือเปลี่ยนไปใช้ยาอื่นแทนก็จะให้คอยุบหายไปได้เอง

                      ปุ่มไทรอยด์ ถ้าเป็นหลายปุ่มที่ไม่มีภาวะไทรอยด์ทำงานเกิน  หรือปุ่มเดี่ยว แพทย์จะทำการตรวจชิ้นเนื้อ (fine needle  aspiration biopsy) ถ้าไม่พบว่าเป็นมะเร็ง ก็จะลองติดตามทุก 1-2 เดือน ถ้าก้อนไม่ยุบจะ ทำการตรวจชิ้นเนื้อซ้ำทุก 2 เดือนอย่างน้อย 3 ครั้ง

                      ถ้าก้อนไม่ยุบ  แพทย์จะให้ฮอร์โมนไทรรอยด์ ได้แก่ เลโวไทร็อกซีน (levothyroxine) มีชื่อทางการค้า เช่น เอลทร็อกซิน    
(Eltroxin) วันละ 1-2 เม็ด นาน 6 เดือน ถ้าก้อนยุบลงให้ยานานต่อไปประมาณ 2 ปี ถ้าก้อนไม่ยุบก็จะหยุดยา และอาจต้องทำการผ่าตัดถ้าก้อนโตมาก หรือมีอาการเสียงแหบ กลืนลำบากหรือหายใจลำบาก

                      ยานี้ต้องระวังอย่าใช้เกินขนาด อาจทำให้มีอาการใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ เจ็บหน้าอก อาเจียน ท้องเสีย นอนไม่หลับ มือสั่น นำหนักลดได้

                      ถุงน้ำไทรอยด์  แพทย์จะใช้เข็มเจาะดูดน้ำ และนำไปตรวจหาเซลล์มะเร็ง ส่วนน้อยที่อาจพบว่าเป็นมะเร็งก็ให้การรักษาแบบมะเร็งไทรอยด์ ส่วน ใหญ่จะเป็นถุงน้ำชนิดไม่ร้าย ถ้าก้อนมีขนาดเล็กก็ไม่ ต้องทำอะไร ถ้าก้อนขนาดใหญ่จะทำการเจาะดูดน้ำออก แล้วติดตามผลทุก 2-4 สัปดาห์ ถ้าก้อนไม่ยุบอาจเจาะน้ำหลายครั้ง ถ้าไม่ยุบหรือโตขึ้นก็อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด

                      ต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรังจากภูมิต้านตนเอง ในระยะที่มีระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในเกณฑ์ปกติ ควรติดตามตรวจเลือดเป็นระยะ ถ้าหากพบว่ามีภาวะขาดไทรอยด์ตามมาควรให้ฮอร์โมนไทรอยด์ทดแทน 


[Total: 0 Average: 0]