โรคพิษสุนัขบ้า

โรคพิษสุนัขบ้า (โรคกลัวน้ำ) คือ โรคติดเชื้อร้ายแรงที่ยังไม่มีทางเยียวยารักษา ผู้ป่วยทุกรายที่มีอาการแสดงมักจะเสียชีวิตภายในเวลาเพียงไม่กี่วัน ในปีหนึ่งๆ มีผู้ที่เสียชีวิตจากโรคนี้อยู่พอสมควร (ในระยะหลัง ๆนี้มีรายงานผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโรคนี้ลดลง คือ ประมาณปีละ 20 -30 ราย) ผู้ป่วยมักมีประวัติถูกสุนัขบ้ากัดแล้วไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์

นอกจากนี้ยังพบว่า ในปีหนึ่งๆ มีคนที่ถูกสุนัขบ้าหรือสัตว์อื่นที่สงสัยมีเชื้อสุนัขบ้ากัด  หรือข่วน ที่ต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้เป็นจำนวนมาก ทำให้เสียค่าใช้จ่ายในเรื่องวัคซีนจำนวนมหาศาล และนำความหวาดผวาหรือความวิตกกังวลมาสู่ครอบครัวของคนที่ถูกกัดมากมาย

โรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน ตั้งแต่ ถูกสัตว์ที่มีพิษสุนัขบ้ากัดใหม่ ๆ

สาเหตุ โรคพิษสุนัขบ้า

เกิดจากเชื้อพิษสุนัขบ้า (rabies virus ซึ่งเป็น lyssavirus type 1 ในตระกูล Rhabdoviridae) ที่อยู่ในน้ำลายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม  ที่พบบ่อย คือ สุนัข แมวนอกจากนี้ยังพบในค้างคาว  สัตว์ป่าต่างๆ ปศุสัตว์ (เช่น วัว ควาย แพะ แกะ หมู ลา อูฐ) สัตว์แทะ (เช่น กระรอกหนู) เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผลบนผิวหนัง โดยการถูกสัตว์กัด  ข่วนหรือเลีย (สำหรับการเสีย จะต้องเสียถูกเยื่อเมือกหรือรอยแผลถลอกเล็ก ๆ น้อย ๆ เชื้อจึงจะเข้าได้  แต่ถ้าผิวหนังเป็นปกติดี เชื้อจะผ่านเข้าไปไม่ได้) เชื้อจะแบ่งตัวเพิ่มจำวน แล้วเดินทางขึ้นไปตามเส้นประสาทส่วนปลายเข้าสู่ไขสันหลังและสมอง หลังจากนั้น  จะแพร่กระจายลงมาตามระบบประสาทส่วนปลายไปยัง อวัยวะต่าง ๆ รวมทั้งต่อมน้ำลาย  บางครั้งเชื้ออาจเดินทาง เข้าสมองโดยไม่ต้องรอให้มีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวน (ทำให้มีระยะฟักตัวของโรคนั้นกว่า 7 วัน) บางครั้งเชื้ออาจเข้าไปอาศัยอยู่ในเซลล์อื่น เช่น มาโครฟาจ (macrophage) เป็นเวลานานก่อนจะออกมาสู่เซลล์ประสาท (ทำให้มีระยะฟักตัวของโรคยาว)

ระยะฟักตัว (ระยะที่ถูกกัดจนกระทั่งมีอาการ) 7 วัน ถึง 6 ปี ส่วนใหญ่เกิดในช่วง 20-60 วัน หลังสัมผัสโรค  ส่วนน้อยพบอาการหลังสัมผัสโรคมากกว่า 1 ปี ผู้ที่ถูกกัดที่หน้าและศีรษะรุนแรงมักมีระยะฟักตัวสั้น

อาการ โรคพิษสุนัขบ้า

ระยะอาการนำของโรค ผู้ป่วยจะมีไข้ต่ำๆ (38-38.5ซ.) ปวดหัว อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร เจ็บคอ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย อาจมีอาการกระสับกระส่าย ลุกลี้ลุกลน วิตกกังวล มีความรู้สึกกลัว นอนไม่หลับ อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย ที่สำคัญซึ่งถือเป็นอาการที่ใช้ในการวินิจฉัยโรคนี้ คือ บริเวณบาดแผลที่ถูกกัด  อาจมีอาการปวดเสียว คัน เหน็บชา หรือปวดแสบปวดร้อย  โดยเริ่มที่บริเวณบาดแผลแล้วลามไปทั่วแขนหรือขา

ระยะปรากฏอาการทางระบบประสาท  มักเกิดภายหลังอาการนำดังกล่าว 2-10 วัน ซึ่งแบ่งเป็น 3 แบบ ได้แก่

                1. แบบคลุ้มคลั่งซึ่งพบได้บ่อยสุด (ประมาณร้อยละ 60-70 ของผู้ป่วย) ในระยะแรกๆ อาจมีเพียงอาการไข้ กระวนกระวาย สับสน ซึ่งจะเกิดบ่อยเมื่อถูกกระตุ้น ด้วยสิ่งเร้า เช่น แสง เสียง เป็นต้น ต่อมาจะมีการแกร่งของระดับความรู้สึกตัว (เดี๋ยวดี  เดี๋ยวไมดีสลับกัน) ขณะรู้สึกตัวดีผู้ป่วยจะพูดคุยตอบโต้ได้เป็นปกติ แต่ขณะความรู้สึกตัวไม่ดี  ผู้ป่วยจะมีอาการกระวนกระวาย ผุดลุกผุดนั่ง  เดินเพ่นพ่าน  เอะอะอาละวาด

ต่อมาจะมีอาการกลัวลม (เพียงแต่เป่าลมเข้าที่หน้าหรือคอจะมีอาการผวา) กลัวน้ำ (เวลาดื่มน้ำจะปวด เกร็งกล้ามเนื้อคอหอยทำให้กลืนไม่ได้  ไม่กล้าดื่มน้ำทั้งๆ ที่กระหาย  หรือแม้แต่จะกล่าวถึงน้ำก็กลัว) ซึ่งพบได้เกือบทุกราย  แต่ไม่จำเป็นต้องพบร่วมกันทั้ง 2 อาการ และอาการเหล่านี้จะหายไปเมื่อผู้ป่วยเริ่มเข้าสู่ระยะไม่รู้สึกตัว

นอกจากนี้  ยังพบอาการถอนหายใจเป็นพักๆ (มักพบในระยะหลังของโรค) และอาการผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติ  เช่น น้ำตาไหล น้ำลายไหล  เหงื่อออกมาก ขนลุก ในผู้ชายอาจมีการแข็งตั้งขององคชาตและหลั่งนำอสุจิบ่อย ซึ่งเกิดขึ้นเองโดยไม่ตั้งใจ ในที่สุดผู้ป่วยจะซึม หมดสติ หยุดหายใจ และ เสียชีวิตภายใน 7 วัน (เฉลี่ย 5 วัน) หลังจากเริ่มแสดงอาการ

               2. แบบอัมพาต (นิ่งเงียบ) ซึ่งพบได้บ่อยรองลงมา (ประมาณร้อยละ 30) มักมีอาการไข้ ร่วมกับกล้ามเนื้อแขนขาและทั่วร่างกายอ่อนแรง กลั้นปัสสาวะไม่ได้  พบอาการกลัวลมและกลัวน้ำประมาณร้อยละ 50 ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักเสียชีวิตช้ากว่าแบบที่ 1 คือเฉลี่ย 13 วัน

บางครั้งอาจแยกจากกลุ่มอาการกิลเลนบาร์เรได้ยาก

                3. แบบแสดงอาการไม่ตรงต้นแบบ (nonclassic) ซึ่งพบได้ในผู้ป่วยบางราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วย ที่ถูกค้างคาวกัด ในระยะแรกผู้ป่วยอาจมีอาการปวด ประสาทหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง  ต่อมาจะมีอาการแขนขาซึกหนึ่งเป็นอัมพาตหรือชา มีอาการชักและการเคลื่อนไหวผิดปกติ  มักไม่พบอาการกลัวลม  กลัวน้ำและอาการผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติดังแบบที่ 1

ระยะไม่รู้สึกตัว ผู้ป่วยทุกรายเมื่อเข้าสู่ระยะสุดท้ายจะมีอาการหมดสติและเสียชีวิต (จากระบบหายใจ) และระบบไหลเวียนเลือดล้มเหลว  รวมทั้งหัวใจเต้นผิดจังหวะ) ภายใน 1-3 วันหลังมีอาการไม่รู้สึกตัว ถ้าผู้ป่วยมาโรงพยาบาลในระยะนี้อาจทำให้วินิจฉัยโรคได้ยาก อาจเข้าใจผิดว่าเกิดจากโรคสมองอักเสบจากสาเหตุอื่น

การป้องกัน โรคพิษสุนัขบ้า

1. ควรแนะนำให้ประชาชนนำสุนัขและแมวที่เลี้ยงไว้ทุกตัวไปฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า เมื่ออายุได้ 12 สัปดาห์ (ถ้าฉีดก่อน ควรฉีดซ้ำเมื่ออายุ 12 สัปดาห์) และ 24 สัปดาห์ และต่อไปฉีดกระตุ้นปีละครั้งอย่างต่อเนื่อง

2. ผู้ที่ทำงานที่เสี่ยงต่อโรคนี้ เช่น สัตว์แพทย์ ผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสัตว์  แพทย์และพยาบาลที่พบผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้าบ่อยๆ เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการที่ทำงาน เกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า เด็กที่ชอบเล่นกับสุนัข เป็นต้น ควรฉีดวัคซีนป้องกันไว้ล่วงหน้า (ก่อนถูกกัด) เรียกว่า “Pre-exposure prophylaxis” โดยการฉีดวัคซีน  HDCVหรือ PCECV 1 มล. หรือ PVRV 0.5 มล. เข้ากล้ามเนื้อต้นแขน 1 เข็ม หรือฉีดวัคซีนชนิดใดชนิดหนึ่งขนาด 0.1 มล.เข้าในชั้นผิวหนัง 1 จุด บริเวณต้นแขน ในวันที่ 0.7 และ 21 

คนกลุ่มนี้เมื่อถูกสัตว์ที่เป็นหรือสงสัยว่าเป็นพิษสุนัขบ้ากัด ควรฉีดวัคซีนกระตุ้น 2 ครั้งในวันที่ 0 และ 3

ส่วนผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าสูง  หลังฉีดวัคซีนป้องกันส่วนหน้าครบ 3 เข็ม ควรตรวจเลือดดูระดับภูมิต้านทานทุก 6 เดือน หรือทุก 1-2 ปี ถ้าพบว่ามีระดับต่ำกว่าเกณฑ์ปลอดภัย  ก็ควรฉีดวัคซีนกระตุ้น

หมายเหตุ ผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันแบบหลังสัมผัสโรค (ถูกสัตว์กัดหรือข่วน) มาแล้ว 3 ครั้ง เช่น ได้รักการฉีดในวันที่ 0‚ 3‚ 7 และหยุดฉีดภายหลังสังเกตสุนัขหรือแมว 10 วันแล้วพบว่าเป็นปกติ ให้ถือเสมือนว่าเป็นการฉีดป้องกันล่วงหน้าเช่นกัน

การรักษา โรคพิษสุนัขบ้า

หากพบผู้ป่วยที่มีอาการน่าสงสัย  ควรส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว

ในรายที่มีประวัติและอาการชัดเจน (เช่น ถูกสุนัข กัด และมีอาการกลัวลม กลัวน้ำ) แพทย์จะให้การรักษาตามอาการ เช่น  ยานอนหลับ ยาแก้ชัก และติดตามดูอาการจนกว่าผู้ป่วยจะเสียชีวิต

ในรายที่ยังไม่สามารถวินิจฉัยได้ชัดเจน อาจต้องทำการตรวจพิเศษ เช่น การเจาะหลัง การตรวจหาเชื้อ พิษสุนัขบ้า และการตรวจหาระดับสารภูมิต้านทานโรคด้วยวิธีต่างๆ  การถ่ายภาพสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เป็นต้น และให้การดูแลรักษาอย่างเต็มที่ เช่นใช้เครื่องช่วยหายใจในรายที่หยุดหายใจ ให้น้ำเกลือและปรับดุลอิเล็กโทรไลต์  จนกว่าจะพิสูจน์พบสาเหตุได้แน่ชัด  ก็จะให้การดูแลรักษาตามสาเหตุที่พบ เช่น ผู้ป่วยที่มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงทั่วร่างกาย ในที่สุดอาจพบว่าเป็นกลุ่มอาการกิลเลนบาร์เรก็มีทางรักษาให้อาการดีขึ้นหรือรอดชีวิตได้

การรักษาผู้ที่สัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า

                       เมื่อพบผู้ป่วยที่ถูกสัตว์ที่เป็นหรือสงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัด ข่วน หรือเลีย ควรให้การดูแลรักษา ดังนี้

                      1. ให้การรักษาบาดแผล ถ้าผู้ป่วยยังไม่ได้ฟอกล้างบาดแผล หรือไม่มั่นใจว่าได้รับการปฐมพยาบาลมาอย่างดีแล้ว ให้ทำการฟอกล้างบาดแผลด้วยน้ำสะอาดกับสบู่หลายๆ ครั้ง แล้วใส่ยาฆ่าเชื้อ ปิดแผลด้วยผ้าก๊อชไม่ควรเย็บแผล  เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้ออักเสบเป็นหนองได้  (ถ้าจำเป็นต้องเย็บแผล ควรทำแผลให้ดีสักระยะหนึ่งก่อน ค่อยเย็บปิดในภายหลัง) ควรให้ยาปฏิชีวนะ เช่น อีริโทรไมซิน ไซโพรฟล็อกซาซิน หรือโคอะม็อกซิคลาฟ และฉีดยากันบาดทะยักตามข้อบ่งชี้ 

                     2. พิจารณาความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า และให้การดูแลรักษา เพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าดังนี้

ความเสี่ยงระดับที่ 1 ไม่ต้องฉีดวัคซีนและอิมมูนโกลบูลิน

                ความเสี่ยงระดับที่ 2 หรือ 3 ให้พิจารณาสัตว์ที่ก่อเหตุ

. ถ้าเป็นสัตว์ป่า  ค้างคาว หนู สัตว์หนีหายหรือสัตว์ตาย (และส่งสัตว์ตรวจพบเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า) ให้ฉีดยาป้องกันแก่ผู้สัมผัสโรคทันที 
                ข. ถ้าสุนัขหรือแมวมีอาการผิดปกติหรือป่วยให้ฉีดยาป้องกันแก่ผู้สัมผัสโรคทันที  และควรนำสัตว์ส่งตรวจ

                 ค. ถ้าสุนัขหรือแมวมีอาการปกติดี ควรซักประวัติต่อไปนี้

  •  การเลี้ยงดูสัตว์อยู่ในรั่วรอบขอบชิด และมีโอกาสสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้าจากสัตว์ตัวอื่นน้อย
  • สัตว์เลี้ยงได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่องในช่อง 2 ปีที่ผ่านมา
  • การกัดหรือข่วนเกิดจากมีเหตุโน้มนำเช่น แหย่สัตว์ เหยียบถูกสัตว์

ถ้าครบทั้ง 3 ข้อ ให้เฝ้าดูอาการของสัตว์ 10 วัน ถ้าครบ 10 วัน สัตว์ยังเป็นปกติ ให้ฉีดยาป้องกันแก่ผู้สัมผัสทันที และควรนำ
สัตว์ส่งตรวจ

ถ้าไม่ครบทั้ง 3 ข้อ ให้ฉีดยาป้องกันไปก่อนเลย  และเฝ้าดูอาการสัตว์ 10 วัน เมื่อครบ 10 วัน ถ้าสัตว์ไม่ตายก็หยุดฉีดได้
ถ้าสัตว์ตายหรือหายไปก่อนครบกำหนด ผู้ป่วยต้องได้รับยาฉีดจนครบ


[Total: 2 Average: 5]