โรคไต

ไตเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่รักษาสมดุลของสารต่าง ๆ โดยจะขับของเสียออกจากร่างกายด้วยการผลิตปัสสาวะ ให้มีปริมาณส่วนประกอบและปริมาตรที่เหมาะสม นอกจากนั้นไตยังมีบทบาทเกี่ยวข้องกับการทำงานของฮอร์โมนต่าง ๆ ด้วย เช่น กระตุ้นวิตามินดี (vitamin D) ควบคุมระดับแคลเซียมและฟอสฟอรัสในร่างกาย การสร้างฮอร์โมนอีริโทรพอยอิทิน (erythropoietin) เพื่อกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง ไตจึงเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญอย่างมาก เราจึงควรให้ความสำคัญกับการรักษาสุขภาพไตไม่ให้เสื่อมก่อนเวลาอันควร

ข้อมูลการศึกษาจากสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยพบว่าคนไทยป่วยเป็นโรคไตเรื้อรัง ถึง 8 ล้านคน โดยคิดเป็นร้อยละ 17.6 ของประชากรประเทศไทย โดยมีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายนับแสนราย และมีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องถึงร้อยละ 15-20 ต่อปี หากไม่ได้ทำการรักษาที่ถูกต้อง จะเกิดโรคแรกซ้อนถึงเสียชีวิตได้

โรคไต เกิดจากอะไร?

โรคไตนั้นเกิดได้จากปัจจัยหลายอย่าง ทั้งปัจจัยด้านพันธุกรรม ด้านพฤติกรรม และด้านสิ่งแวดล้อม โดยในปัจจุบันพบว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดไตวายเรื้อรังบ่อยที่สุดคือ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และนิ่วในทางเดินปัสสาว สาเหตุของโรคไตที่สำคัญในประเทศไทยอีกสาเหตุหนึ่งคือการกินยาที่มีผลต่อการทำงานของไต โดยมักพบสัมพันธ์กับการกินยาแก้ปวดปริมาณมาก หรือการกินยาสมุนไพรบางชนิด ในผู้ที่เริ่มมีความบกพร่องของไต

หน้าที่สำคัญของไต คือ การสร้างปัสสาวะซึ่งจะช่วยขับของเสียที่เกิดจากการเผาผลาญสารอาหารต่างๆ และช่วยในการรักษาความปกติของน้ำและเกลือแร่ของร่างกายนอกจากนั้นไตยังมีหน้าที่ในการสร้างสารที่ควบคุมความดันโลหิต และสารที่ช่วยกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง ดังนั้นเมื่อไตทำงานน้อยลงมักเกิดปัญหาความดันโลหิตสูงและโลหิตจางร่วมด้วย

ขับถ่ายของเสีย

          ไตทำหน้าที่ขับถ่ายของเสียที่เกิดจากการเผาผลาญอาหารประเภทโปรตีนออกจากร่างกาย ของเสียประเภทนี้ ได้แก่ ยูเรีย ครีอะตินีน กรดยูริก และสารประกอบไนโตรเจนอื่นๆ อาหารประเภทโปรตีนมีมากในเนื้อสัตว์และอาหารจำพวกถั่ว ซึ่งหากของเสียจากอาหารประเภทโปรตีนเหล่านี้คั่งค้างอยู่ในร่างกายมากๆ จะทำให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆ ซึ่งทางการแพทย์เรียกภาวะดังกล่าวว่า ยูรีเมีย (uremia) นอกจากนี้ไตยังทำหน้าที่กำจัดสารพิษ สารเคมี รวมทั้งขับถ่ายยาต่างๆออกจากร่างกายอีกด้วย

ยูเรีย

          ยูเรียเป็นโปรตีนที่ถูกตัดหมู่ amino ออก (-NH2) แล้ว เปลี่ยนเป็นยูเรีย ส่งไปกรองที่ไตกระบวนการเปลี่ยนให้เป็นยูเรียเกิดขึ้นที่ตับ ยูเรียมีความสำคัญอย่างยิ่งในการทำงานของหน่วยไต เรียกว่า countercurrent system ช่วยในการดูดซึมกลับของสารน้ำและเกลือแร่ที่อยู่ในหน่วยไต โปรตีน urea transporter 2 เป็นตัวขนถ่ายยูเรียเข้าสู่ท่อไตเพื่อขับออกทางปัสสาวะ ยูเรียในกระแสเลือดอยู่ในสภาพสารละลายประมาณ 2.5 – 7.5 มิลลิโมล/ลิตร เกือบทั้งหมดขับถ่ายทางปัสสาวะ มีเพียงส่วนน้อยที่ถูกขับถ่ายทางเหงื่อ

ครีอะตินีน

          ครีอะตินีนเป็นสารที่เกิดจากการแตกสลายของ creatine phosphate ในกล้ามเนื้อ ร่าง กายสร้างครีอะตินีนขึ้นในอัตราที่คงที่โดยอัตราการสร้างขึ้นกับมวลกล้าม เนื้อของแต่ละคน ไตทำหน้าที่กรองครีอะตินีน โดยไม่มีการดูดกลับ ดังนั้นถ้าการทำหน้าที่กรองของไตเสียไปโดยไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ จะสามารถตรวจพบระดับของครีอะตินีนในเลือดเพิ่มสูงขึ้น

กรดยูริก

          กรดยูริกเกิดจากการเผาผลาญอาหารประเภทเนื้อสัตว์ สาร พิวรีนในโปรตีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องในสัตว์ ถั่วเหลือง ถั่วแดง กระถิน ชะอม ใบขี้เหล็ก ผักตำลึง กระหล่ำดอก ผักบุ้ง ถั่วลิสง เห็ด หน่อไม้ฝรั่ง กรดยูริกจะถูกขับออกมาทางไต ถ้าหน้าที่ของไตเสียไป ก็จะทำให้ระดับกรดยูริกในเลือดสูงขึ้นได้ เช่นกัน กรดยูริกเกิดจากการย่อยสลายสารพิวรีน ร่างกายจะย่อยพิวรีนจนกลายเป็นกรดยูริก และจะขับออกมาพร้อมกับปัสสาวะ ในคนปกติกรดยูริกจะถูกสร้างขึ้นในอัตราช้าพอที่ไตจะขับออกได้หมดทันกับการ สร้างขึ้นพอดี

สมดุลของน้ำและเกลือแร่

          ไตทำหน้าที่ควบคุมปริมาณสารน้ำและเกลือแร่ในร่างกายน้ำและแร่ส่วนที่เกินควรจำเป็นจะถูกขับออกมาทางปัสสาวะ เกลือแร่ดังกล่าว เช่น โซเดียม โปตัสเซียม แมกนีเซียม แคลเซียม และฟอสฟอรัส เป็นต้น ร่าง กายมนุษย์มีน้ำเป็นส่วนประกอบประมาณร้อยละ 70 ในเลือดมีน้ำเป็นองค์ประกอบร้อยละ 92 ในสมองมีน้ำเป็นองค์ประกอบร้อยละ 85 ถ้าพิจารณาในแต่ละเซลล์จะมีน้ำเป็นองค์ประกอบร้อยละ 60 จริงๆแล้วน้ำเป็นส่วนประกอบสำคัญและจำเป็นของเซลล์ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นเซลพืช เซลล์สัตว์ และเซลล์มนุษย์ ทุกเซลล์ล้วนประกอบด้วยน้ำทั้งนั้น ในเซลล์มนุษย์และเซลล์สัตว์มีน้ำประมาณ 2 ใน 3 ของน้ำหนักร่างกาย ในพืชบกมีน้ำประมาณร้อยละ 50–75 ถ้าเป็นพืชน้ำอาจมีน้ำมากกว่าร้อยละ 95 โดยน้ำหนัก

ความดันโลหิต

          ไตทำหน้าที่สร้างสารเรนิน (renin) ช่วยควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ระดับคงที่ ทำให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆเพียงพอ ใน ภาวะความดันโลหิตในหลอดเลือดแดงที่ไตโดยเฉลี่ยลดลง ทำให้ร่างกายกระตุ้นกระบวนการเรนิน-แองจิโอเทนซิน ซึ่งจะทำให้มีการหลั่งเรนินจากจักซตาโกลเมอรูลาร์ อัฟพาราตัส (juxtaglomerular apparatus) ในไต เรนินเป็นเอนไซม์ที่หลั่งจากไตเข้าไปในกระแสเลือด ทำหน้าที่เปลี่ยนแองจิโอเทนซิโนเจน ให้เป็นแองจิโอเทนซิน I หลังจากนั้นเอนไซม์แเองจิโอเทนซิน คอนเวอทติง (angiotensin converting enzyme : ACE) จะเปลี่ยนแองจิโอเทนซิน I ให้เป็นแองจิโอเทนซิน II ที่ปอด เมื่อสารน้ำในร่างกายต่ำกว่าปกติ ระบบเรนิน-แองจิโอเทนซิน จะไปกระตุ้นหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดหดรัดตัว และกระตุ้นการหลั่งแอลโดสเตอโรนที่ต่อมหมวกไตส่วนนอก ทำให้เพิ่มปริมาณของโซเดียมและน้ำมากขึ้น ปริมาณเลือดจะเพิ่มขึ้น

การสร้างเม็ดเลือดแดง

          ไตทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง มีชื่อเรียกว่า อีริโทโพอิติน(erythropoietin) หรือเรียกว่า อีโป (EPO) สารนี้ช่วยกระตุ้นไขกระดูกให้สร้างเม็ดเลือดแดง ทำให้ร่างกายมีปริมาณเลือดเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายอย่างเพียงพอ ป้องกันการเกิดภาวะโลหิตจาง ไข กระดูกเป็นแหล่งสร้างเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวและเกร็ดเลือด โดยทั่วไปไขกระดูกจะอยู่ตามโพรงของกระดูกทุกชิ้น และมีปริมาณมากที่กระดูกเชิงกราน และกระดูกหน้าอก เม็ดเลือดแดงมีสารฮีโมโกลบิน ทำหน้าที่นำออกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์ของอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย ทำให้เซลล์ทำงานได้ตามปกติ

วิตามินดี

          ไตทำหน้าที่สร้าง active form ของวิตามินดี ซึ่งมีบทบาทควบคุมระดับเกลือแร่แคลเซียมและฟอสฟอรัสในร่างกาย ช่วยทำให้กระดูกแข็งแรง วิตามินดีมีความจำเป็นในการดูดซึมแคลเซียมไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย เฉพาะเมื่อได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ ในบ้านเรามักจะไม่มีปัญหาการขาดวิตามีนดี เนื่องจากมีแสงแดดตลอดปี วิตามินดีมีผลต่อการดูดซึมแคลเซียมจากลำไส้ ควบคุมการขับถ่ายแคลเซียมออกจากไต และควบคุมการสะสมแคลเซียมบนกระดูก ร้อยละ 90 ของวิตามินดีในร่างกายมาจากการสร้างขึ้นของผิวหนังเมื่อทำปฏิกิริยากับรังสี อุลตราไวโอเลตชนิดบี

โรคไต เมื่อเป็นแล้วมีอาการอย่างไรบ้าง?

อาการของโรคไตนั้นขึ้นอยู่กับระยะและสาเหตุของโรคไต โดยในระยะเริ่มต้นผู้ป่วยส่วนมากจะไม่มีอาการแต่อาจตรวจพบได้จากการวัดความดันโลหิตหรือการตรวจเลือดและปัสสาวะคัดกรอง เมื่อการทำงานของไตลดลงเรื่อย ๆ ของเสียต่าง ๆ ในร่างกายจะมีการสะสมทำให้เกิดอาการความดันโลหิตสูง บวม อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร เหนื่อยง่าย โลหิตจาง ปริมาณปัสสาวะลดลง ในโรคไตบางชนิดอาจพบว่าปัสสาวะมีฟองมากกว่าปกติซึ่งบ่งชี้ว่ามีโปรตีนรั่วออกมาในปัสสาวะปริมาณมาก

อายุเท่าไหร่ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคไต?

โรคไตนั้นสามารถเกิดได้ในทุกช่วงอายุ แต่มักจะพบได้มากขึ้นตามอายุที่มากขึ้น หากมีอาการผิดปกติหรือความเสี่ยงที่สงสัยว่าจะเกี่ยวกับไต จึงควรจะปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาการตรวจที่เหมาะสมเพิ่มเติม

โรคเกี่ยวกับไต

  1. วัณโรคไต
  2. โรคถุงน้ำในไต
  3. เนื้องอกที่ไต
  4. ภาวะไตบวมน้ำ
  5. โรคไตอักเสบ
  6. โรคไตอักเสบชนิดไอจีเอ
  7. โรคไตอักเสบเฉียบพลันในเด็ก
  8. มะเร็งไต
  9. ปวดไต
  10. นิ่วไต
  11. กรวยไตอักเสบเรื้อรัง
  12. ภาวะไตวาย
  13. หลอดเลือดแข็งที่ไต
  14. หน่วยไตอักเสบเฉียบพลัน
  15. กรวยไตอักเสบ
  16. กรวยไตอักเสบเฉียบพลัน
  17. นิ่วท่อไต
  18. โรคไตเนโฟรติก
[Total: 0 Average: 0]